posttoday

พช.จับมือ 16 ภาคี 3 MOU แก้จน สนองพระราชปณิธาน ร.10

25 ธันวาคม 2563

พช.จับมือ 16 ภาคี 3 MOU สนองพระราชปณิธานในหลวง ร.10 “สืบสาน รักษา และต่อยอด” น้อมนำศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผสานพลังขับเคลื่อนสู่จุดหมาย “แก้ได้ หายจน ชีวิตมั่นคง ครอบครัวมั่งคั่ง ชุมชนยั่งยืน”

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีและร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฉบับ ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก Sufficiency Economy Philosophy to Sustainable Development Goals (SEP to SDGs) 2.โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ขั้นก้าวหน้า “Premium Product of Thailand ในทุกภูมิภาคของไทย” และ 3.โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นางสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earth Safe) นายไตรภพ โครตวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นายสมเกียรติ กิมาวนา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นายรักษ์เผ่า พลรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเอามื้อสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคมจำกัด และตัวแทนจากหน่วยงานภาคี 7 ภาคี รวม 16 หน่วยงาน ลงนามในความร่วมมือในการแสดงเจตนารมณ์น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทย และสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริฯ ณ  อิมแพ็ค เมืองทองธานี

พช.จับมือ 16 ภาคี 3 MOU แก้จน สนองพระราชปณิธาน ร.10

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ทั้ง 3 ฉบับนี้ เห็นได้ว่าทุกหน่วยงานมีความมุ่งหมายที่จะสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก โดยรัฐบาลได้น้อมนำแนวพระราชดำริดังกล่าวมาปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาจากฐานราก และสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ตามแนวพระราชดำริที่พระองค์ท่านทรงวางแนวทางการพัฒนา ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในลักษณะการพึ่งตนเอง โดยทรงใช้คำว่า “ระเบิดจากข้างใน” นั่นคือ ทำให้ชุมชน หมู่บ้าน มีพื้นฐานที่มั่นคงพอสมควรก่อน แล้วจึงสร้างความเจริญ และยกระดับเศรษฐกิจให้สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อันจะเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจะนำพาประเทศไทยให้ไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” อย่างแท้จริง”

พช.จับมือ 16 ภาคี 3 MOU แก้จน สนองพระราชปณิธาน ร.10

ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า เป็นบุญของพวกเราชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาและสายพระเนตรอันยาวไกลห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ ดังพระปฐมบรมราชโองการความว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" การลงนามในความร่วมมือทั้ง 3 ฉบับที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นดังการสนองงานและสัญลักษณ์ของการตั้งปณิธานที่แน่วแน่ร่วมกัน ที่พวกเราจะช่วยกันน้อมนำ สืบสาน แนวทางพระราชดำริ ศาสตร์พระราชา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องชาวไทยอย่างยั่งยืน นำพาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ความร่วมมือจากทุกภาคีเครือข่ายวันนี้จึงมีความสำคัญยิ่ง

พช.จับมือ 16 ภาคี 3 MOU แก้จน สนองพระราชปณิธาน ร.10

ทั้งนี้ มีจุดเริ่มต้นจาก กรมการพัฒนาชุมชน ได้เข้าร่วมดำเนินโครงการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก (Sufficiency Economy Philosophy to Sustainable Development Goals: SEP to SDGs) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ในงานวันดินโลก “พลังงานสรรค์สร้างพลังแผ่นดิน เพื่อการฟื้นฟูโลก” ณ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก โดยมีหน่วยงานร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earth Safe) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และบริษัท เอามื้อสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งได้แสดงปฏิญญาความร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน ในการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก และเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ อาหาร และพลังงาน ตามเป้าหมายความยั่งยืนโลก และสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ