posttoday

วธ.เปิดตัวบุคคลในภาพในหลวง

08 ธันวาคม 2553

รมว.วัฒนธรรม และผู้บริการกระทรวงนำ 9 บุคคลในภาพที่เป็นศิลปินพื้นบ้าน และทายาท9คนถวายพระพรในหลวงที่ศิริราช

รมว.วัฒนธรรม และผู้บริการกระทรวงนำ 9 บุคคลในภาพที่เป็นศิลปินพื้นบ้าน และทายาท9คนถวายพระพรในหลวงที่ศิริราช

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม และผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม นำบุคคลในภาพที่เป็นศิลปินพื้นบ้านและทายาทรวม 9 คน มาถวายพานพุ่ม ลงนามถวายพระพร และน้อมถวายสิ่งของสำคัญแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ศาลาศิริราช 100 ปี โรงพยาบาลศิริราช

นอกจากนี้ในช่วงบ่าย ได้มีการแถลงผลการค้นหาและเปิดตัวบุคคลในภาพ พร้อมทั้งนำภาพเครื่องดนตรีในภาพที่ 9 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดนตรีร่วมกับพระสหายเป็นการส่วนพระองค์ และหลักฐานแห่งความทรงจำ ณ หอประชุมพุทคยา ชั้น 22 อาคารอัมรินทร์พลาซ่า

นางจันทนา ทรงศรี ภรรยานายเชิด ทรงศรี หนึ่งในบุคคลในภาพ กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นและปลาบปลื้มใจเป็นอย่างมากที่ได้มาลงนามถวายพระพรในวันนี้ ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง อยู่เป็นมิ่งขวัญตราบนานเท่านาน

นายเยี่ยม ห่อวโนทยาน อายุ 69 ปี ข้าราชการบำเหน็จ กรมธนารักษ์ ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของประเทศ เพราะไม่มีพระมหากษัตริย์องค์ใดในโลกที่จะเหน็ดเหนื่อยเท่ากับพระองค์ท่านอีกแล้ว

สำหรับผลการค้นหาศิลปินในภาพทั้ง 9 ภาพ มีดังนี้

ภาพที่ 1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเป็นประธานในการบันทึกภาพการรำโนราห์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2514 ภาพนี้ผ่านกาลเวลา 39 ปีมาแล้ว บุคคลในภาพ คือ ขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่ม เทวา) เสียชีวิตเมื่อปี 2526 พบบุตรสาว คือ นางละม่อม ชัยฤกษ์ อายุ 72 ปี มาพร้อมกับหลานชาย คือ ขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่ม เทวา) คือ พล.อ. นพ. รณวิทย์ อุปถัมภ์นรากร กล่าวว่า ตอนนั้นเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ศิริราช ทุกครั้งที่กลับบ้านพ่อชอบนำภาพนี้มาให้ดู ท่านเล่าเหตุการณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ถือพระองค์เลย มองการแสดงอย่างใจจดใจจ่อ ถึง 40 นาที

“พ่อเล่าว่า ปู่ชอบเล่าให้ฟังเสมอๆ โดยบอกว่า แผ่นดินรัชกาลนี้ วันนั้นปู่สัมผัสได้ถึงความเมตตาระหว่างเจ้าชีวิตกับบุคคลธรรมดา ทรงมีความเมตตาและสนิทกับประชาชนอย่างไม่มีอะไรกีดกั้น ตั้งแต่ปี 2514 ถึงวันนี้”

ภาพที่ 2 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีร่วมกับวง อส.วันศุกร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2511 บุคคลในภาพซึ่งนั่งเป่าแซกโซโฟนอยู่ใกล้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ นายกวี อังศวานนท์ ปัจจุบันเป็นผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์

นายกวี ซึ่งเป็น 1 ในสมาชิก วง อส.วันศุกร์ ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ก่อตั้งโดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า ถ้ากล่าวถึงความประทับใจในฐานะที่ตัวเองเป็นเพียงนักดนตรีมือสมัครเล่นก็ปลื้มใจที่ได้เล่นร่วมวงกับพระเจ้าแผ่นดิน ที่ตลอดเวลาพระองค์ไม่เคยตำหนินักดนตรีร่วมวงเลย ภาพนี้ 42 ปีแล้ว และเป็นการเล่นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “ทรงเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงประจำมหาวิทยาลัย และเพลงที่นักศึกษาหรือผู้ฟังสามารถขอเพลงขึ้นมาบนเวทีได้ด้วย การไปเล่นดนตรีของพระองค์ท่านไม่ใช่เพื่อความเกษมสำราญส่วนพระองค์นะครับ แต่จะมีการระดมทุนบริจาคเข้ากองทุนการศึกษามูลนิธิอานันทมหิดลอีกด้วย ทรงหาทุนต่อยอดการศึกษาด้วยพระองค์เอง การทรงดนตรีจึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่วงการศึกษาอีกต่อไปด้วยครับ” นายกวี กล่าวด้วยความซาบซึ้ง

ภาพที่ 3 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระราชินีแห่งอิหร่าน ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในปี 2508  นางจันทนา ทรงศรี ภรรยานายเชิด ทรงศรี ผู้กำกับชื่อดัง ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 23 ปี เฝ้ารับเสด็จฯ

“การแสดงชุดนั้นคือโขน ตอนนางลอย ดิฉันแสดงเป็นนางเบญจกายแปลงเป็นนางสีดา เพื่อรองรับพระราชอาคันตุกะ รูปนี้เช้ารุ่งขึ้นได้ลงหนังสือพิมพ์ หน้า 1 ทุกฉบับเลยค่ะ ความตื่นเต้นคือตอนที่ สวมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตรัสเรียก “นางสีดา มาข้างหน้าแถวหน่อยซิ” ทำให้ได้ใกล้ชิดกับในหลวงและพระราชินีอย่างที่ไม่คิดว่าประชาชนบุคคลธรรมดาจะได้ใกล้ชิดขนาดนี้”   นางจันทนา กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ภาพที่ 4 ผู้นำชาวเขาเผ่าม้งบ้านแม่สาใหม่ซึ่งทำพิธีผูกขวัญที่ข้อพระกรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2521 คือ นายปร้าจือ แซ่ย่าง เสียชีวิตเมื่อปี 2537 พบภรรยา ชื่อ นางไปล่ แซ่ย่าง ปัจจุบันอายุ 96 ปี มีบุตร 7 คน โดยบุตรชายชื่อนายอาสา เลิศชัยสหกุล อายุ 47 ปี ได้มาแสดงตน พร้อมเพื่อนๆ ชาวเขาเผ่าม้งอีก 5 คน นายอาสา กล่าวว่า ตอนนั้นอายุ 12 ปี จำได้ว่า ในหลวงเสด็จฯ เข้ามาในหมู่บ้าน พ่อของตนเป็นคนผูกข้อพระกรในหลวง ซึ่งผู้สูงอายุหรืออาวุโสในหมู่บ้านจะเป็นผู้ผูกข้อมือ ความเชื่อที่ว่าเพื่อพระชนมายุยาวยืน และเพื่ออยู่ดีมีสุข

“นอกจากพ่อของเราแล้ว พ่ออีกหลายๆ คนที่อาวุโสก็จะได้ผูกข้อพระกรด้วย” นายอาสา กล่าว ซึ่งก็หมายความถึงเพื่อนๆ ม้งที่เข้ามากรุงเทพฯ ร่วมงาน “แผ่นดินของเรา” ครั้งนี้ ล้วนมีบิดาที่ได้ร่วมผูกข้อพระกรทุกคน “ผมจำได้ว่ากลับบ้าน พ่อรีบเล่าให้ลูกๆ ฟังเลยว่า ผูกข้อมือในหลวงเสร็จ พระองค์ท่านก็ถามว่าหมู่บ้านแม่สา ทำมาหากินอะไรกัน พ่อทูลตอบว่า ปลูกฝิ่น ข้าว และข้าวโพด...แค่นั้น พระองค์ท่านก็ตรัสว่า ไม่เป็นไร อยากให้ช่วยกันรักษาป่า อย่าบุกรุกป่า รักษาแผ่นดินไว้ให้มั่นคง ปลูกลิ้นจี่ แครอท เพื่อจะมีรายได้มั่นคงและมีชีวิตดีกว่าเดิม หลังจากนั้นก็ส่งเมล็ดพันธุ์ถั่วแดง กาแฟอะราบิก้า และเมล็ดพันธุ์ผักต่างๆ มาให้ และหลังจากนั้นโครงการหลวงก็เข้ามาพัฒนาชีวิตชาวเผ่าม้งก็ดีขึ้นมาก” นายอาสา กล่าว

ภาพที่ 5 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรพระราชโอรสธิดาทรงรำวงร่วมกับคณะลูกเสือชาวบ้าน ณ โรงเรียนไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2518 บุคคลในภาพคือ นางศิวลี สุขวรรณะ ปัจจุบันอายุ 66 ปี เป็นข้าราชการบำนาญ อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรสงคราม

“ในภาพคือการรำเซิ้ง เสด็จฯ พร้อมกัน 5 พระองค์ คือในหลวง พระราชินี และพระราชโอรสพระราชธิดา ทุกพระองค์รำวงพร้อมกับลูกเสือชาวบ้านด้วย ไม่ถือพระองค์เลย ไม่คิดว่าประชาชนคนธรรมดาจะได้ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวขนาดนี้”  นางศิวลี กล่าวและยังรำเซิ้งโชว์อย่างมีความสุขให้ดูอีกด้วย

ภาพที่ 6 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ และทรงเยี่ยมทหารตำรวจที่ตำบลมางโมง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส  เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2519 เด็กชายที่กำลังทำงานจักสานอยู่หน้าพระพักตร์ คือ นายสมศักดิ์ คงจิตรค้า ปัจจุบันอายุ 49 ปี ประกอบอาชีพทำสวนอยู่ในอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธวาส กล่าวว่า มีการเข้าใจผิดคิดว่าบุคคลในภาพนี้เสียชีวิตไปแล้ว จนกระทั่งนายอำเภอสุคิริน ติดต่อเขามาและบอกว่าเป็นบุคคลในภาพที่ได้อยู่ในภาพกับในหลวง

“ตอนนั้นอายุ 14 ปี ผมเป็นคนโคราชย้ายมาอยู่นราธิวาส ที่มีการฝึกอาชีพให้แก่ผู้ยากจน ผมฝึกจักสาน ในหลวงเดินมา ผมก็มัวแต่ก้มหน้าก้มตาทำงานไม่รู้ว่าใครกระทั่งครูเรียกชื่อ สมศักดิ์ แล้วในหลวงก็ถามว่าต้องดึงให้ตึงๆ แน่นๆ ใช่ไหม และทรงถามอีกด้วยว่าทำไหวไหม เหนื่อยไหม ซาบซึ้ใจที่สุดในชีวิต” นายสมศักดิ์ กล่าว

ภาพที่ 7 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแสดงละครเรื่อง ฉัตรแก้ว ณ โรงละครแห่งชาติ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2510 ซึ่งจัดแสดงเนื่องในโอกาสครบ 100 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5  เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการเลิกทาส โดยบุคคลในภาพ คือ ม.ร.ว. จีริสุดา วุฒิไกร รับบทเจ้าดารารัศมี พระชายาในรัชกาลที่ 5 ม.ร.ว. จีริสุดา กล่าวว่า ครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ด้วย ตรัสถาม 3 คำ ที่ถือว่ามงคลสูงสุดในชีวิต ตรัสว่า “ขอบใจจ้ะ” แก่นักแสดงซึ่งนับเป็นมงคลในชีวิต

ภาพที่ 8 บุคคลที่กำลังทำงานประติมากรรม ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนเพาะช่าง เมื่อประมาณปี 2506 คือ นายเยี่ยม ห่อวโนทยาน ปัจจุบันอายุ 69 ปี เป็นข้าราชการบำเหน็จ กรมธนารักษ์ ซึ่งนายเยี่ยม มีภาพที่เป็นสมบัติส่วนตัวมาแสดงบนเวทีด้วย เป็นอีกสาขาหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าหัว “ในภาพทรงทอดพระเนตรมาที่งานปั้นของผม ทรงมีสายพระเนตรให้แก่วงการศิลปะซึ่งผมก็ไม่คาดคิดเลยนะครับว่า จะได้ใกล้ชิดพระองค์ท่านขนาดนี้” นายเยี่ยม กล่าว

ภาพที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีในเรือร่วมกับพระสหายเป็นการส่วนพระองค์ที่บ้านม.ล.บัว สนิทวงศ์ บุคคลในภาพ คือ ม.ล. ประพันธ์ สนิทวงศ์  น้องชายของ ม.ล. บัว ปัจจุบัน ม.ล. ประพันธ์ เสียชีวิตแล้ว พบทายาทคือ พล.อ.อ. อนุพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และ พล.ต.อ. อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นผู้กล่าวบนเวทีแถลงข่าว อธิบายว่า เป็นวงดนตรีลายคราม ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาพนี้เหมือนย้อนอดีตว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ใกล้ชิดกับประชาชนในทุกเรื่อง

“ทรงเติมดนตรีในหัวใจคนไทย ผมอยากใช้ประโยคนี้ ดนตรีทำให้จิตใจละเมียดละไม อ่อนโยน จิตใจโอบอ้อมอารีซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยเรา” พล.ต.อ. อิสระพันธ์ กล่าว

วธ.เปิดตัวบุคคลในภาพในหลวง

 

วธ.เปิดตัวบุคคลในภาพในหลวง

 

วธ.เปิดตัวบุคคลในภาพในหลวง

 

วธ.เปิดตัวบุคคลในภาพในหลวง

 

วธ.เปิดตัวบุคคลในภาพในหลวง

 

วธ.เปิดตัวบุคคลในภาพในหลวง