posttoday

ยธ.-อัยการพร้อมขอศาลสั่งกักกันนักโทษคดีร้ายแรงติดนิสัย

11 กันยายน 2563

ยธ.-อัยการพร้อมใช้อำนาจขอศาลสั่งกักกันนักโทษคดีร้ายแรงติดนิสัย ทำผิดซ้ำหลังพ้นโทษ “รมว.ยธ.”เผยตัวเลขนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ฆ่า ข่มขืนเข้าข่ายพ้นโทษปีละ30คน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการกรมคุมประพฤติ (JSOC) ซึ่งจะมีระบบติดตามนักโทษคดีร้ายแรง เช่น คดีความผิดทางเพศ ฆ่าข่มขืน เพื่อป้องกันการก่อเหตุซ้ำและความปลอดภัยในสังคม โดยระบุว่า ในแต่ละปีจะมีนักโทษคดีร้ายแรงใน 1 ปีประมาณ 30 กว่าคน แม้จะมีศูนย์ JSOC แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถใช้ศักยภาพได้เต็มที่ เพราะไม่สามารถกักกันควบคุมติดตามผู้ต้องขังที่มีโทษหนักและสังคมวิตกกังวลได้อย่างเต็มที่ จึงได้ประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุด เข้ามาดูแลด้านการใช้กฎหมายกักกันที่จะขออำนาจศาล เพื่อใช้กำไล EM ติดตามนักโทษคดีร้ายแรงที่พ้นโทษแล้ว โดยนักโทษคดีร้ายแรง ที่อัยการขอศาลให้มีการกักกัน หลังจากพ้นโทษเมื่อนำไปกักกันในสถานที่กำหนดแล้วยังจะต้องใส่กำไล EM เพื่อความปลอดภัยของสังคม

ส่วนข้อกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ศาลได้อนุมัติแล้ว อย่างไรก็ขณะนี้ยังไม่มีนักโทษกลุ่มร้ายแรงที่ติดกำไล EM แต่อัยการได้รับเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการแล้ว และจะเริ่มโครงการได้ปีงบประมาณหน้า

ด้านนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า สำหรับมาตรการการกักกันโดยการควบคุมผู้กระทำความผิดในสถานที่กำหนด เป็นอำนาจของพนักงานอัยการ โดยเฉพาะการร้องขอกักกันผู้กระทำความผิดติดนิสัย ซึ่งหากผู้กระทำความผิดเข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย อัยการจะฟ้องศาลขอให้กักกันผู้กระทำความผิดติดนิสัยทุกเรื่อง ยืนยันว่า ในสำนวนคดีอาญา พนักงานอัยการพิจารณาเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัยเรื่องการกักกันทุกสำนวน หากมีข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนชัดเจนก็จะร้องขอให้กักกันทุกเรื่อง โดยจะขอให้กรมราชทัณฑ์ส่งรายชื่อผู้กระทำผิดซ้ำมาให้ทางสำนักงานอัยการเพื่อให้สำนวนการสอบสวนในคดีอาญาสมบูรณ์มากขึ้น

ขณะที่นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวอีกว่า กรณีผู้กระทำความผิดติดนิสัย หมายถึง ศาลพิพากษา จำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน 2 ครั้งแล้วกลับมาทำผิดอีก ตัวอย่างของคนที่กระทำความผิดติดนิสัย และทำให้สังคมสะพึงกลัวมากที่สุด ก็คือ นายสมคิด พุ่มพวง ที่ฆ่าหั่นศพ 5 คดี แต่กลับมากระทำความผิดอีกโดยพฤติกรรมก่อเหตุเดิมๆ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมกังวลว่า คนเหล่านี้จะกลับไปสู่สังคมโดยไม่มีความปลอดภัยได้อย่างไร ดังนั้น สำนักงานอัยการจึงประสานกับกระทรวงยุติธรรมและเตรียมประสานไปยังสตช. เรื่องฐานข้อมูลเผื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการฟ้องขอศาลกักกัน ซึ่งกฎหมายกำหนด

“ถ้าคนที่ก่อเหตุครั้งแล้วครั้งเล่ากลับมาก่อเหตุอีก นอกจากจะฟ้องให้ลงโทษสถานหนักแล้ว อัยการก็จะใช้วิธีเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ด้วยการขอเข้าไปในคำฟ้องว่าเมื่อพ้นโทษแล้ว ขอให้ศาลกักกันด้วย ซึ่งศาลกักกันได้ตั้งแต่ 3-10 ปี เพื่อดัดนิสัย ฝึกอาชีพในสถานที่กักกัน ซึ่งอัยการมีระเบียบชัดเจน พร้อมที่จะขับเคลื่อนทั่วประเทศขอเพียงแค่ฐานข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์”โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว