posttoday

พม.เปิดปฎิบัติการผีเสื้อขยับปีกช่วยเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศมีชีวิตใหม่

28 สิงหาคม 2563

พม.เปิดข้อมูลเด็กไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศพุ่ง! จัดอบรมเชิงปฎิบัติการ “ผีเสื้อขยับปีก” สร้างทีมเสริมพลังผู้ถูกระทำ เปลี่ยนจากเหยื่อเป็นพยานนำผู้ก่อเหตุลงโทษตามกฎหมาย

นางสราญภัทร อนุมัติราชกิจ  รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิด “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างพลัง EMPOWERMENT สำหรับนักวิชาชีพ” หรือโครงการ “ผีเสื้อขยับปีก” เพื่อให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้ทำหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครองให้ความช่วยเหลือ การดำเนินการฟื้นฟูเยียวยา และเสริมพลังแก่เด็กผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ ให้สามารถเปลี่ยนสถานะของตนเองจาก “เหยื่อ” กลายเป็น “พยานคนสำคัญ” เพื่อให้คนทำผิดถูกลงโทษตามกฎหมาย 

นายจุติ  ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดินทางมาร่วมงานนี้ด้วย พร้อมกล่าวว่า ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ถูกกระทำผู้ถูกล่วงละเมิด ที่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อความถูกต้อง พร้อมเปลี่ยนจากเหยื่อกลายมาเป็นพยาน คืนความยุติธรรมและคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งทางรัฐบาลได้ให้นโยบายและพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ และอยากให้โครงการนี้ขยายไปอย่างกว้างขวางทุกจังหวัด นอกจากนี้สิ่งที่เราต้องทำคือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก การทำงานเชิงรุก สร้างองค์ความรู้  รวมถึงอาจต้องมีการปรับปรุงระเบียนต่างๆเพื่อให้เกิดความทันสมัยกระชับขึ้น เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเหยื่อและผู้ที่ถูกละเมิดทางเพศมากขึ้น             

นางสราญภัทร  อนุมัติราชกิจ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า สถิติผู้ใช้บริการในศูนย์พึ่งได้ทั่วประเทศ พบสถานการณ์ปัญหา เด็กและเยาวชนถูกกระทำความรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมาก โดยสถิติ ปี 2560  มี21,218 ราย ปี2561 มี14,237 ราย และในปี2562 มี15,797 ราย ในจำนวนนี้ พบประเภทการกระทำ ความรุนแรงทางเพศ มากถึง 5,191 ราย คิดเป็นร้อยละ 32.9 ของสถิติเด็กและเยาวชนที่ถูกกระทำความรุนแรง กระทรวงฯได้มอบหมายให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 แห่ง ร่วมติดตามและให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ถูกกระทำความรุนแรงและการถูกล่วงละเมิดทางเพศ อย่างทันท่วงที       

นางทิชา ณ นคร หนึ่งในคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง และการละเมิด ทางเพศ ต่อเด็ก และเยาวชน และที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า เมื่อเด็ก เยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศ บ้าน ชุมชน โรงเรียนอาจจะไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะการถูกแทรกแซง ถูกข่มขู่จากผู้ที่มีอิทธิพลมีอำนาจเหนือกว่า  บ้านพักเด็กและครอบครัว ของ พม. ต้องเป็นที่พึ่งแรกของผู้เสียหาย ไม่ใช่แค่ที่หลบซ่อนหรือหนีร้อนมาพึ่งเย็น เพราะเมื่อคนทำผิดถูกลงโทษตามกฎหมายไม่ว่าเขาคนนั้นจะมีอาชีพใด  ตำแหน่งใด มันคือการคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียหาย ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณทางสังคมอย่างชัดเจนว่า สิทธิในเนื้อตัว  ร่างกาย ชีวิตของเด็กของผู้หญิงนั้นถูกคุ้มครองอย่างเสมอภาค ใครจะละเมิดมิได้