posttoday

จุฬาฯเดินหน้าโครงการ ChAMP พลิกวิกฤติเป็นโอกาสหลังโควิด-19

25 สิงหาคม 2563

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯเดินหน้าโครงการ ChAMP พลิกวิกฤติเป็นโอกาสหลังสถานการณ์โควิด-19 สร้างดิจิทัลคอนเทนต์เผยแพร่บนโลกออนไลน์

นายธงชัย บุศราพันธ์ ซีอีโอใหญ่แห่ง โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงาน โครงการ ChAMP(Chulalongkorn Alumni Mentorship Program) รุ่นที่ 9 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการ ChAMP ดำเนินมาเข้าปีที่ 9 มีพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีบัณฑิตที่ผ่านโครงการนี้ออกสู่ภาคธุรกิจแล้ว 493 คน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากหลายหน่วยงาน พร้อมกับเสียงเรียกร้องให้มีการขยายโครงการออกสู่ภาคสังคม แต่เนื่องจากจำนวนพี่เลี้ยง (Mentor) ที่คัดเลือกจากรุ่นพี่ที่สำเร็จการศึกษา ทั้งจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะอื่นของจุฬาฯ ผู้ประสบความสำเร็จและมีความรู้ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพต่างๆ มีจำกัด ทำให้การขยายโครงการยังทำได้ไม่เต็มที่นัก กระทั่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยากลำบากในการเมนทอริ่งระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องที่เข้าร่วมโครงการที่เป็นนิสิตที่กำลังศึกษาอยู่ แต่ก็ทำให้เกิดไอเดียใหม่ในการสร้างดิจิทัลคอนเทนต์เผยแพร่ไปยัง ผู้ร่วมโครงการ (Mentee) และคนนอกโครงการ ที่ไม่ใช่แค่นิสิตเท่านั้้น แต่ยังสามารถส่งต่อให้บุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ สถานการณ์จากโควิดทำให้เกิดการใช้ชีวิตวิถีปกติใหม่ จึงทำให้รูปแบบโครงการแชมป์เปลี่ยนไปหลายอย่าง เช่น เดิมรุ่นพี่กับรุ่นน้องเคยเจอกันแบบเจอหน้า ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีอย่างซูมมิตติ้งแทน แต่ก็ทำให้เกิดข้อดีตรงที่ทำให้คอนเทนต์ที่เคยจำกัดอยู่แค่น้องนิสิตเพียง 4 คนในกลุ่ม ก็ขยายออกไปสู่สังคมภายนอก ที่ผ่านมาเรามีความพยายามจะเพิ่มจำนวนพี่เลี้ยง ให้สามารถรองรับนิสิตทุกคนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ แต่ต้องยอมรับว่าทำได้ยาก เพราะต้องมีการคัดเลือกให้ได้พี่เลี้ยงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด การพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ จะช่วยให้น้องนอกโครงการสามารถได้รับประโยชน์ จากประสบการณ์และความรู้ที่เราถ่ายทอดให้กับน้อง ๆ ที่มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการฯ ไปพร้อมกัน ถึงแม้จะไม่ได้ 100% แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ความรู้ตรงนี้จะเปิดโอกาสให้เขาได้เปลี่ยนตัวเองได้เช่นกัน

นายตรอง หลงสมบูรณ์ นิสิตปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการแชมป์ กล่าวว่า ตัวเองรู้จักโครงการ ChAMP จากรุ่นพี่ค่ายอาสา ซึ่งแม้จะไม่เชื่อเสียทีเดียวนักว่าการนั่งคุยกับรุ่นพี่จะช่วยให้ค้นหาตัวเองเจอ แต่ความที่เป็นคนชอบตั้งคำถามและทดลองสิ่งใหม่ๆ จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยคาดหวังว่าจะได้รับคำตอบเกี่ยวกับอาชีพในฝัน แต่คำตอบที่ได้กลับเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า

“เป็นคำตอบที่ให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ว่าเรามีความสุขกับอะไร ชอบทำอะไร และทำอะไรได้ดี ซึ่งสำคัญกว่าอาชีพ เพราะจริงๆ แล้ว โลกเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา อีก 50 ปีข้างหน้า อาชีพที่ใช้ในการดำรงชีวิตอาจไม่มีสอนในคณะฯที่เราเรียนอยู่ตอนนี้ก็ได้ สิ่งที่เราต้องรู้ จึงควรเป็นคุณค่าในชีวิตตัวเองคืออะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีทางจะหาเจอได้ในห้องเรียน”นายตรองกล่าว

ด้าน น.ส. ณภัสสร พรกุลวัฒน์ นิสิตปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กล่าวว่า ความที่ทรัพยากรบุคคลของโครงการมีจำกัด ทำให้ตัวเองได้รุ่นพี่ที่อยู่ในสายงาน ไม่ตรงกับสายวิชาที่เรียน กระนั้้นแม้จะไม่ได้รับประสบการณ์ความรู้ที่ตรงกับสายวิชาที่เรียนแต่ก็ได้ประสบการณ์ความรู้ในสายวิชาอื่นที่เข้ามาช่วยเติมเต็มและสร้างความหลากหลายให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานของโลกยุคสมัยใหม่ “ตัวเองเรียนด้านการตลาด ก็จะไม่ค่อยชอบตัวเลข มาได้รุ่นพี่ที่ทำงานด้านไพรเวทแบงค์กิ้ง กับเรียลเอสเตท ทำให้ได้แง่มุมด้านการมองภาพรวมธุรกิจ และตัวเลขการลงทุน ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานด้านการตลาดได้มาก

อย่างไรก็ตาม โครงการ ChAMP เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักสูตรให้เข้ากับบริบทการศึกษาในปัจจุบัน ที่การเรียนรู้ไม่ได้จำเพาะอยู่แค่ออนไลน์หรือออฟไลน์ แต่เป็นไลฟ์ ไลน์เลิร์นนิ่ง อันเป็นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในยุควิถีปกติใหม่นับจากนี้ไป เพื่อให้นิสิตนักศึกษามีรากฐานอันแข็งแกร่งในการต่อยอดสู่โลกอนาคต