posttoday

สองนักวิจัย"สวทช. - จุฬาฯ"คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นปี 2563

17 สิงหาคม 2563

เปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2563 เป็นสองนักวิจัย.จาก สวทช.และจุฬาฯ เตรียมเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2563 จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 38 โดยมี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี และกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัล ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว

ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า การพัฒนาและขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยนักวิจัยเพื่อคิดค้นองค์ความรู้ สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่มีศักยภาพเพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ พร้อมเปลี่ยนจากประเทศผู้ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ และสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันในด้านต่างๆ อาทิ Energy and Environment, Biotechnologies, Advanced Functional Materials, และ Digital Technologies เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (First S-curve และ New S-curve) โดยเฉพาะโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล

สองนักวิจัย"สวทช. - จุฬาฯ"คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นปี 2563

“ปัจจุบันการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ใน 141 ประเทศทั่วโลก พบว่า ระดับความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 40 และความสามารถด้านนวัตกรรมอยู่อันดับที่ 50 โดยการวิจัยและพัฒนาอยู่อันดับที่ 56 การใช้สิทธิบัตร อยู่อันดับที่ 66 และมีงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาอยู่อันดับที่ 54" ” ศ.ดร.จำรัสกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์ จากการจัดอันดับของ nature index ranking พบว่า ขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 41 ของโลก จาก 172 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 9 ในกลุ่ม Asia Pacific จาก 30 ประเทศ และเมื่อพิจารณาในกลุ่ม ASEAN 10 ประเทศ อันดับ 1 คือประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 ตามด้วยประเทศ เวียดนาม มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ในขณะที่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยพบว่ามีเพียง 7.7% เท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์

ศ.ดร.จำรัส กล่าวว่า เพื่อเป็นการยกระดับประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับประเทศชั้นนำในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์นั้น จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมความเป็นเลิศในสาขาวิจัยที่สร้างศักยภาพให้กับประเทศ การเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การสนับสนุนนักวิจัยและผู้นำกลุ่มนักวิจัยชั้นแนวหน้า และการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยฯลฯ ที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการ และให้ทันต่อการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง

สำหรับ ในปีนี้ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2563 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 400,000 บาท ประกอบด้วย 1.ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผลงานวิจัย “ผู้สร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาอาหารหมักไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ทางอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ ร่วมกับพันธมิตรสร้างทางเลือกในการแก้ไขปัญหาในการผลิตและแปรรูป ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสร้างอุตสาหกรรมอาหารใหม่มูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม” โดยคิดค้นองค์ความรู้และพัฒนาระเบียบวิธีใหม่ทางเทคโนโลยีชีวภาพในกระบวนการผลิตอาหาร โดยใช้เซลล์จุลินทรีย์ และเอนไซม์หรือสิ่งที่จุลินทรีย์สร้างขึ้น เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่สำหรับแก้ไขปัญหาในกระบวนผลิตและแปรรูป ยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน สร้างอุตสาหกรรมอาหารใหม่มูลค่าสูง ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพดี ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร สร้างความยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

2.ศ.ดร.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานวิจัย "เครื่องปฏิกรณ์แบบหลายหน้าที่ (Multifunctional reactor) และการรวมกระบวนการ (Process intensification) สำหรับอุตสาหกรรมเคมี ปิโตรเคมี และไบโอรีไฟเนอรี" โดยการศึกษาครอบคลุมตั้งแต่งานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ เช่น การเลือกปฏิกิริยา การพัฒนาสูตรตัวเร่งปฏิกิริยา การออกแบบตัวเร่งปฏิกิริยา ตลอดจนการออกแบบกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน ส่งผลให้เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการผลิต มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น องค์ความรู้จากงานวิจัยเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเคมี ปิโตรเคมี และไบโอรีไฟเนอรีที่ใช้วัตถุดิบชีวมวล สนองต่อโมเดลการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนบนฐานเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

อย่างไรก็ตาม รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2563 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ 1.ดร.พิชญ พัฒนสัตยวงศ์ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผลงานวิจัย “วัสดุไฮบริดเพื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่”2. รศ.ดร.ทวีธรรม ลิมปานุภาพ หัวหน้าสาขาวิชาเคมี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานวิจัย “การใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาปฏิกิริยาเคมีและการพัฒนาสื่อการสอนวิทยาศาสตร์”