posttoday

"หมอฟัน"ยันเลิกใช้โคเคนรักษาฟันนานแล้ว

31 กรกฎาคม 2563

ทันตแพทย์ เผย โคเคน ใช้ในการรักษาฟันเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ปัจจุบันเลิกใช้ไปนานแล้ว เหตุต้องใช้ขนาดเป็นพิษ - มีฤทธิ์เสพติด

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. จากกรณีที่ตำรวจสั่งไม่ฟ้อง นาย วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส กรณีที่มีการพบสารเสพติดโคเคนในตัว นั้น โดยทางตำรวจระบุว่า ได้รับการยืนยันจากหมอฟันว่าเป็นยาที่ใช้ในการรักษาฟันที่มีส่วนผสมของสารโคเคนอยู่ นั้น

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า และพัฒนาไปไกลมากแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีการนำยาที่มีส่วนผสมของโคเคนที่ถูกระบุว่าเป็นสารเสพติด เข้ามาใช้เกี่ยวกับทางทันตกรรมอย่างแน่นอนโดยปัจจุบันตัวยาที่ทางทันตกรรมใช้สำหรับการรักษารากฟันในช่องปาก คือยาชา ชื่อว่า Lidocaine (ลิโดเคน) ซึ่งเป็นยาชาใช้เฉพาะที่และใช้ในปริมาณที่น้อยมาก ประมาณ 1.8 มล. อีกทั้งตัวยาจะออกฤทธิ์ไม่เกิน 6 ชั่วโมงเท่านั้น ก่อนจะหายไปและไม่สามารถตรวจพบในปัสสาวะได้

ด้าน เพจ เฟซบุ๊ก ใกล้หมอฟัน เพจให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องฟันชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า "การรักษาทางทันตกรรมปัจจุบันเราไม่ใช้โคเคนแล้วครับ มีการใช้โคเคนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เพื่อใช้ระงับอาการปวดจากการทำฟันตัวแรกๆ แต่โคเคนได้เสื่อมความนิยมลงเพราะขนาดที่ใช้รักษาใกล้เคียงกับขนาดที่เป็นพิษและฤทธิ์เสพติด ซี่งไม่มีการใช้แล้วในปัจจุบันสำหรับใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ในงานทันตกรรม

การรักษาทางทันตกรรมโดยเฉพาะการใช้ยาชาเฉพาะที่ ในปัจจุบัน จะใช้สารที่พัฒนาจากโคเคน ที่มีความปลอดภัย หรือมีพิษน้อยกว่า เช่น ลิโดเคน เมพิวาเคน อะทิเคน ซึ่งยาชาที่เราฉีด จะไม่ฉีดเข้าเส้นเลือด แต่จะฉีดเพื่อให้ยาซึมซับระงับอาการเจ็บปวดบริเวณฟัน หรือเส้นประสาทตรงบริเวณนั้น

อ้างอิงจากเอกสารสอนทันตกรรมเรื่องยาชาในทางทันตกรรม อาจารย์ อุดมรัตน์ เขมาลีลากุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่