posttoday

คนไทยเจ็บไม่จำ ดราม่าไลฟ์โค้ชฌอนไม่ใช่เคสแรก

30 มิถุนายน 2563

ย้อนรอยดราม่าไลฟ์โค้ชคนดังที่พังเพราะคำพูดตัวเอง

ดราม่าเรื่องเงินบริจาคช่วยเหลือไฟป่าเชียงใหม่ของไลฟ์โค้ชคนดัง ฌอน บูรณะหิรัญ ที่ยังไม่มีคำตอบให้สังคม ทำให้คนไทยหันมาให้ความสนใจกับคำว่า “ไลฟ์โค้ช” อีกครั้ง วันนี้โพสต์ทูเดย์จึงรวบรวมดราม่าของบรรดาไลฟ์โค้ชที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในสังคม

ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

ปี 2560 ขุนเขาปล่อยคลิปวิดีโอ “ประเทศไทย...แย่ที่สุดในโลก!?” แต่มีผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อว่า Kandanai Mind Chotikapracal โพสต์ข้อความระบุว่า เนื่อหาส่วนหนึ่งของคลิปลอกข้อความมาจากเฟซบุ๊คของ เอ้ ธีรนุช ยอดนุ่น ดีเจและพิธีกรชื่อดัง ที่เคยโพสต์เกี่ยวกับประเทศเนปาลไว้ตั้งแต่ปี 2559

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ผู้ที่ปรากฏในคลิปบางคนไม่ได้รับแจ้งว่าจะใช้คลิปในเชิงพาณิชย์เพื่อโฆษณาหนังสือและไม่ได้รับเงินค่าตัว ได้เพียงหนังสือเล่มที่โปรโมทในคลิป ต่อมาทางทีมงานของขุนเขาชี้แจงว่าได้จ่ายเงินค่าจ้างไปแล้วโดยสอดไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าว แต่ก็ถูกวิจารณ์ตามมาอีกว่าเป็นการไม่เหมาะสม ต่อมาเรื่องนี้ก็เงียบไป

เบส อรพิมพ์ รักษาผล

เธอได้รับเสียงชื่นชมจากการพูดเรื่อง “เกิดอีกสิบชาติ ก็ไม่เจอมหาราชที่ชื่อภูมิพล” หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตมีการแชร์คลิปนี้อย่างแพร่หลายจนเบสเริ่มมีชื่อเสียง

แต่หลังจากที่เธอไปพูดเรื่องราวเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้คนอีสานฟัง โดยตอนหนึ่งพูดว่า “คนอีสานคะ โปรดฟัง ในหลวงรักพวกคุณ แปลกนะที่บางทีพวกคุณลืมในหลวง แปลกอะ พี่ไม่ได้ว่านะ พี่เข้าใจ เพราะคุณมันเกิดช้าไง”

คำพูดนี้สร้างความไม่พอใจให้ชาวอีสานจนเกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนัก แม้แต่คนดังอย่าง ตุ๊กกี้ สุดารัตน์ บุตรพรม ก็เข้ามาติติงด้วย บางคนถึงขั้นบอกว่าหมดศรัทธาหลังจากได้ดูคลิปนี้ หลังจากนั้นเธอก็หายหน้าไปจากสังคม

ดร.ป๊อป ฐาวรา สิริพิพัฒน์

คนไทยเจ็บไม่จำ ดราม่าไลฟ์โค้ชฌอนไม่ใช่เคสแรก

นักเขียนนวนิยายที่ผันตัวมาเป็นนักพูดที่มีคนสนใจเข้าร่วมอบรมคอร์สต่างๆ มากมาย แต่ก็ต้องมาเจอดราม่าเมื่อมีการตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดชื่อดังว่า “น้องเราถูกด่าทอและกักขังในงานอบรมแห่งหนึ่งเพื่อแค่กระตุ้นให้รู้ว่าเป็นโรคซึมเศร้าจริงไหม”

เจ้าของกระทู้เล่าว่าน้องที่รู้จักซึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเข้าอบรมกับนักพูดคนหนึ่ง แต่วันแรกได้ขอตัวกลับก่อน เพราะรู้สึกอึดอัดกับคำพูดของนักพูดคนนั้น เนื่องจากมีการไล่ให้ไปตาย

วันที่สองนักพูดได้เรียกน้องคนดังกล่าวและแม่เข้าไปคุย แต่น้องไม่ได้ตอบอะไร นักพูดจึงฟันธงไปว่าน้องคนนี้ไม่ได้ป่วยซึมเศร้าจริง

นอกจากนี้ เจ้าของกระทู้ยังเล่าว่า แม่ของนักพูดตะคอกใส่น้อง พูดจาหยาบคาย และยกมือทำท่าจะตบ และสุดท้ายน้องถูกนำตัวไปขังไว้ที่ห้องเล็กๆ ให้คุยกับสตาฟฟ์จนกว่าพ่อน้องจะมารับ โดยต่อมานักพูดโทรศัพท์ไปขอโทษน้อง และชี้แจงว่าแค่กระตุ้นเพื่อดูว่าน้องเป็นโรคจริงหรือไม่

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพากันตั้งคำถามว่า ดร.ป๊อปไม่ใช่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่จะวิเคราะห์หรือวินิจฉัยว่าใครเป็นโรคซึมเศร้า

ต่อมา ดร.ป๊อปยอมรับว่ากระทู้ดังกล่าวเป็นเรื่องของตัวเอง และชี้แจงว่าที่พูดให้ไปตายเป็นการพูดเล่นเป็นปกติในคลาสเรียน และตัวเองจบการศึกษาด้าน NLP หรือโปรแกรมว่าด้วยภาษาจิตประสาท และอ้างว่าโปรแกรมนี้มีวิธีพิสูจน์ว่าใครพูดจริงหรือโกหก

หลังจากนั้น อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวงิทยาลัยโพสต์เฟซบุ๊คว่าการอบรม  NLP เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ลวงโลก (pseudo science)

ประเด็นดราม่าของ ดร.ป๊อปยังไม่จบแค่นั้น อีกไม่กี่เดือนต่อมาชาวโซเชียลยังแสดงความไม่พอใจที่เจ้าตัวเปลี่ยนชื่อจาก ดร.ป๊อป เป็น มาสเตอร์ป๊อป หรืออาจารย์ป๊อป จนเกิดแฮชแท็กร้อน #นักพูดเหี้ย ร้อนถึงเจ้าตัวต้องเคลียร์ดราม่าอีกครั้ง

ครูอ้อย เข็มทิศชีวิต

เจ้าของคอร์สอบรมการให้กำลังใจคลายปมชีวิตและผู้เขียนหนังสือระดับเบสต์เซลเลอร์ ที่มีทั้งดารานักแสดงและเจ้าของกิจการเข้าร่วมคอร์สจำนวนมาก แต่ก็เกิดประเด็นดราม่าสกัดครูอ้อย เมื่อนักแสดงหญิงคนหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊คเรียกร้องให้ครูอ้อยหยุดใช้ภาพของเธอโปรโมทคอร์สเรียน และต่อมายังมีคนดังอีกหลายคนที่ปฏิเสธว่าไม่ใช่ลูกศิษย์ครูอ้อย

เหตุการณ์นี้นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตถึงวิธีการสอนที่เน้นการโชว์ความร่ำรวย  ราคาคอร์สอบรมที่แพงหูฉี่ สร้างรายได้ให้ครูอ้อยเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่าปีละ 90 ล้านบาท และลุกลามไปถึงการเล่นหุ้นของครูอ้อยที่มีมูลค่ากว่า 200 ล้าน ข้อกังขาเหล่านี้ทำให้ชื่อของครูอ้อยเริ่มเสื่อมมนต์ขลังลง

ครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ

แอ็กติ้งโค้ชชื่อดังที่เคยสอนนักแสดงตัวท็อปในวงการมาแล้วหลายคน แม้ว่าชื่อของครูเงาะมักถูกพูดถุงในทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง แต่นั่นถือเป็นรสนิยมส่วนตัว

แต่กรณีที่ดราม่าสุดๆ คือเมื่อต้นปี 2562 ที่ครูเงาะไลฟ์ในหัวข้อ “ว่าด้วยเรื่องการเมืองและการหาจุดยืนให้ตัวเอง #ไลฟ์ครูเงาะ” โดยมีประโยคหนึ่งที่จุดประเด็นดราม่า นั่นก็คือ “ครูมองว่าประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ดี ในข้อแม้ว่า ทุกคนพร้อมที่จะใช้มัน ทุกอย่างมันมีเวลา บางทีก็อยากฝากไปถึงคนที่จะเป็นนายกฯ คนต่อไป ให้สอบคัดเลือกคนที่จะมาใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยซ้ำว่าพร้อมหรือไม่”

ปลายปี 2562 ชื่อของครูเงาะถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งโพสต์คลิปที่ครูเงาะไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในคลิป 14 วินาทีครูเงาะพูดว่า “กูล่ะเบื่อจริงๆ ประเทศไทย ฝนก็ตก รถก็ติด พระนเรศวรกลอกตาเลยนะคะ กูอุตส่าห์กู้ชาติบ้านเมืองยุทธหัตถีมาให้มึง แค่รถติดมึงด่าประเทศชาติเลยนะคะ”

คลิปนี้มีการรีทวีตกว่า 44,000 ครั้งในช่วงนั้น  และยังมีการแสดงความไม่เห็นด้วย ว่าไม่น่าจะนำเรื่องพระมหากษัตริย์มาโยงกับปัญหาเรื่องฝนตกรถติดในปัจจุบัน และยังตั้งคำถามกลับว่าคนไทยไม่มิทธิ์บ่นเรื่องนี้หรือ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่รัฐบาลต้องปรับปรุงและแก้ไข

ผู้กองเบนซ์ ร.ต.อ. สี่ทิศ อ่ำถนอม

ชื่อของเขาถูกพูดถึงจนเกิดแฮชแท็ก #ผู้กองเบนซ์ ในโลกทวิตเตอร์ หลังเจ้าตัวโพสต์คลิปในช่วงที่ Covid-19 ระบาดโดยพูดในทำนองว่าที่หลายคนมีปัญหาทางการเงินช่วง Covid-19 เพราะไม่รู้จักลุกขึ้นมาทำงานด้วยวิธีใหม่ๆ

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมองว่าคำพูดของผู้กองเบนซ์เป็นการซ้ำเติมคนที่กำลังลำบาก เพราะบางคนต้นทุนไม่เท่ากัน และยังมีการขุดเรื่องราวในอดีตของผู้กองเบนซ์ เช่น การวิจารณ์พระพุทธเจ้า การอธิบายที่มาที่ไปของคำว่าเดรัจฉานผิดเพี้ยน

คนไทยเจ็บไม่จำ ดราม่าไลฟ์โค้ชฌอนไม่ใช่เคสแรก

หลังจากแฮชแท็ก #ผู้กองเบนซ์  ติดเทรนด์ เจ้าตัวต้องรีบโพสต์ข้อความขอโทษผ่านแฟนเพจว่า "ถ้าผมได้พูดหรือทำอะไรผิดพลาดไป หรือกระทบกระเทือนจิตใจใครไปบ้าง ผมขออภัยทุกท่านจากใจจริงนะครับ และขอขอบคุณสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ผมจะนำไปปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปครับ"

ฌอน บูรณะหิรัญ

เริ่มจากการโพสต์คลิปที่ไปร่วมปลูกป่าที่เชียงใหม่ แล้วเอ่ยปากชม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าน่ารัก สร้างความไม่พอใจ และยิ่งโกรธมากขึ้นเมื่อฌอนตอบกลับคอมเม้นต์แบบติดตลก กระแสถล่มยิ่งรุนแรงขึ้นจนเกิดการแฉเรื่องส่วนตัวหลายเรื่องจนแฮชแท็ก #ฌอนบูรณะหิรัญติดเทรนด์ทวิตเตอร์หลายวันติดกัน

เรื่องเก่ายังไม่ทันจาง ทีมอาสาดับไฟป่าที่เชียงใหม่ได้ฝากให้เพจแหม่มโพธิ์ดำช่วยติดตามเงินบริจาคที่ฌอนเปิดรับบริจาค เนื่องจากทางทีมไม่เคยได้รับสิ่งของจากฌอน นำมาสู่การสืบหาหลักฐานจนรู้ว่าระดมเงินบริจาคได้เพียง 800,000 บาท ทั้งที่เปิดระดมเงินถึง 2 เดือน และใช้บัญชีส่วนตัวรับเงินบริจาค ทำให้เกิดข้อกังขาเรื่องจำนวนเงิน

ฌอนหักเงินบริจาคราว 250,000 บาทไปทำคลิปโปรโมทไฟป่าในเพจของตัวเอง และยังนำเงินส่วนนี้ไปซื้ออุปกรณ์ป้องกัน Covid-19 บริจาคให้โรงพยาบาลในนามของบริษัทตัวเอง ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมองว่าฌอนใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ และอาจมีเจตนาแอบแฝงเพื่อนำไปหักภาษีในนามของบริษัท

ต่อมามีการเรียกร้องให้ฌอนนำสเตตเม้นต์การรับบริจาคมาโชว์เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง แต่จนถึงตอนนี้ฌอนยังไม่มีการเคลื่อนไหว

ดราม่าของฌอนทำให้ชื่อของขุนเขาถูกพูดถึงอีกครั้งหลังจากเจ้าตัวโพสต์ปกป้องว่าฌอนเป็นเพื่อนที่ดี และบอกว่าอยากให้ทุกคนฉลาดกว่าที่ตาเห็น ทัวร์จึงไปลงที่ขุนเขาด้วย โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมองว่าฌอนทำผิดแต่ขุนเขากลับปกป้องคนทำผิด และแซะคนที่วิจารณ์ฌอนว่าไม่ฉลาด

บทความโดย จารุณี นาคสกุล