posttoday

"ดีเอสไอ"แจ้งข้อหา 10 รายสนับสนุนจนท.รัฐออกโฉนดป่าสงวนฯ อ่าวนาง

30 มิถุนายน 2563

ดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหา 10 ราย สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดพื้นที่ป่าสงวนฯ อ่าวนาง จ.กระบี่ และเตรียมแจ้งอีก 13 ราย

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้ดีเอสไอดำเนินการสอบสวนกรณีนายกาหรีม เตบบุตร ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎร ยื่นคำขอและนำเจ้าพนักงานที่ดินเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน 33 แปลง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนาง ป่าหางนาค เขตพื้นที่ ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่คดีนี้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษที่ 7/2562 โดยกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งคณะพนักงานสอบสวนขึ้นสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานพบบุคคลที่มีพยานหลักฐานพอแจ้งข้อกล่าวหาจำนวน 23 คน

ทั้งนี้ มีการออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา โดยขณะนี้ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาแล้ว จำนวน 10 คน ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 ประกอบมาตรา 86 และยังมีผู้อยู่ในข่ายถูกแจ้งข้อกล่าวหาอีก 13 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งรัดการสืบสวนสอบสวน ทั้งนี้ เมื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ผู้ต้องหาสามารถนำข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานมามอบให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้ ก่อนที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งหมดและมีความเห็นทางคดีส่งพนักงานอัยการต่อไป

สำหรับ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากคณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.)มีมติเมื่อวันที่ 3 ต.ค.50 ให้รับกรณีกลุ่มบุคคลบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่าวนาง ป่าหางนาค โดยมีการออกหนังสือแสดงสิทธิ์โฉนดที่ดิน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 51 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ในเขตพื้นที่ ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ เป็นคดีพิเศษ เพื่อสืบสวนสอบสวนตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพ.รบ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งการสืบสวนสอบสวนขณะนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโฉนดที่ดิน จำนวน 33 แปลง จาก 51 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 97-3-10 ไร่ มีพยานหลักฐานว่าออกโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมาย เนื่องจากที่ดินเป็นที่เขาหรือภูเขา และไม่มีลักษณะการทำประโยชน์มาก่อน อีกทั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ดำเนินการขีดเขตและรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่ดินผู้เกี่ยวข้องในการออกโฉนดที่ดิน เข้าข่ายกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและยังมีบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ยื่นคำขอและนำเจ้าพนักงานที่ดินเดินสำรวจ เพื่อออกโฉนดที่ดิน ได้ร่วมกระทำการกับเจ้าหน้าที่ด้วย

อย่างไรก็ตาม จากฐานคงามผิดเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดีเอสไอจึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาไต่สวน เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2552 ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลการกระทำความผิดในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างคณะทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานอัยการสูงสุด มีมติให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท นอกจากนั้น ในส่วนของผู้ปกครองท้องที่ คือ นายกาหรีม รวมถึงราษฎรที่ยื่นคำขอและนำเจ้าพนักงานที่ดิน เดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน 33 แปลงในคดีนี้ ย่อมมีความผิดฐานการสนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติส่งเรื่องให้ดีเอสไอเป็นผู้สอบสวนดำเนินคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา