posttoday

"มหาวิทยาลัยไทย" พลิกโฉมอย่างไรให้ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21

23 มิถุนายน 2563

รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาเผย 3 กลุ่มยุทธศาสตร์การพลิกโฉม "มหาวิทยาลัยไทย" เพื่อตอบโจทย์ประเทศในศตวรรษที่ 21

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 63 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นถึงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

พลิกโฉมประเทศด้วยการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing Universities)

มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นหัวรถจักรในการการขับเคลื่อนประเทศด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมถึงการสร้างคนตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 และการพัฒนาคนทุกช่วงวัย จึงจำเป็นจะต้องมีการ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย” ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ช่วงที่ผ่านมาอว.ได้มีการเร่งปฏิรูประบบบริหารมหาวิทยาลัยในหลายด้าน อาทิ ระบบบริหารบุคลากรที่เน้นสมรรถนะและจริยธรรม ระบบงบประมาณ การผ่อนคลายข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของคณาจารย์ และบุคลากรหลายด้าน อาทิ มคอ. ตำแหน่งวิชาการ หรือระบบธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ไปจนถึงการเร่งพัฒนาระบบการเรียน การสอนรองรับสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องการเรียนออนไลน์ หลักสูตร Non-Degree ต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว เพื่อให้เกิดการพลิกโฉมเพื่อตอบโจทย์ประเทศอย่างจริงจัง (Radical Transformation) จึงมีการปรับทิศทางการทำงานของมหาวิทยาลัย โดยเน้นการพัฒนาตามความถนัด สร้างความเป็นเลิศ สอดคล้องกับทิศทางและความต้องการของประเทศ ผ่าน 3 กลุ่มยุทธศาสตร์ประเภทมหาวิทยาลัย

ซึ่งคณะทำงานของกระทรวง อว. พร้อมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ต่างหารือและร่วมกันขับเคลื่อนงานกันอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถแบ่งงานสำคัญออกมาตามกลุ่มยุทธศาสตร์ ได้ดังนี้ครับ

- กลุ่มมหาวิทยาลัยระดับโลก (Global & Frontier University) : การหารือเรื่องปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาคเกษตร และอาหาร การปรับสู่ระบบดิจิทัล การพัฒนาหลักสูตรนานาชาติ ไปจนถึงการดึง Professor หรือนักเรียนทุกจากต่างประเทศมาร่วมทำงานวิจัยร่วมกัน เป็นต้น

- กลุ่มมหาวิทยาลัยแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology & Innovation University) : การหารือเรื่องระบบราง ข้อมูลขนาดใหญ่ และปัญญาประดิษฐ์สำหรับอาชีวศึกษา ราชมงคล และภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาระบบ Credit Bank ไปจนถึงการแนวทางการ Upskill / Reskill บุคลากรสายวิชาชีพ และการสร้างผู้ประกอบการ เป็นต้น

- มหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ (Area-Based University) : มุ่งเน้นการปฏิรูปโครงสร้างระบบและกลไกการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาท้องถิ่น การเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับชุมชน การพัฒนาหลักสูตรบูรณาการศาสตร์เพื่อการพัฒนาท่องถิ่น ไปจนถึงหลักสูตร Upskill / Reskill สำหรับประชาชน หรือหน่วยงานระดับท้องถิ่น เป็นต้น

อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยจะต้องทลายกำแพงระหว่างสถาบัน เพื่อให้เกิดภาคีเพื่อร่วมสร้างสรรค์ทางความคิด(co-creation) และความร่วมมือ (collaboration) ระหว่างกันมากขึ้น พร้อมเร่งสานพลังกับเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ จากทั่วโลกมาช่วยเสริมพลังให้มหาวิทยาลัยของไทยกลายเป็นมหาวิทยาลัยของภูมิภาคต่อไปในอนาคตครับ