posttoday

"ฟรุ๊ตบอร์ด"เพิ่มมูลค่าทุเรียนภาคใต้เพิ่มรายได้เกษตรกร

11 มิถุนายน 2563

"ฟรุ๊ตบอร์ด"สร้างอัตลักษณ์ผลไม้ประจำถิ่น เพิ่มมูลค่าทุเรียนภาคใต้ เพิ่มรายได้เกษตรกร ผ่านเกษตรแปลงใหญ่ครบวงจร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit board) กล่าวว่า กรมฯได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการสร้าง"อัตลักษณ์ผลไม้ประจำถิ่น"ตั้งแต่ปี 2561 เพราะเล็งเห็นว่าไม้ผลหลายชนิด เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง เงาะ ลองกอง ส้มโอ สละ จำปาดะ ล้วนมีความสำคัญทางเศรษฐกิจตามบริบทของพื้นที่ จึงทำให้เหมาะสมที่จะส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพให้มีมาตรฐาน เกิดการเพิ่มมูลค่าควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการพัฒนาการผลิตไม้ผลสู่ 4.0 ให้มากขึ้น และสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้รับทราบเรื่องราว (Story) คุณค่า คุณประโยชน์ และแหล่งที่มาที่ถูกต้องของผลไม้โดยบริหารจัดการผ่านกระบวนการเกษตรแปลงใหญ่อย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้าคุณภาพจากสวนที่ได้มาตรฐาน เตรียมพร้อมสู่มาตรฐานการส่งออก ยกระดับเกรดของสินค้าด้วยการรับรองคุณภาพ GAP การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยเชื่อมโยงตลาดกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

ขณะนี้ภาคใต้นับเป็นภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตไม้ผลที่สำคัญของประเทศไทยมีการผลิตไม้ผลหลายชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นสินค้าอัตลักษณ์สร้างชื่อประจำจังหวัดเช่น “ทุเรียน”นับว่าเป็นราชาแห่งผลไม้โดยเฉพาะ“ทุเรียนสาลิกา”ของดีเมืองพังงา หรือที่เรียกเป็นภาษาถิ่นว่า “ทุเรียนสากา” มีรสชาติหวานมันและมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ มีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่อำเภอกะปง จังหวัดพังงา พื้นที่ประมาณ 320 ไร่น้ำหนัก1.5 – 2 กิโลกรัมต่อผลมีฤดูกาลเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GIแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีผลไม้อื่น ๆ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่น ส้มโอทับทิมสยาม มังคุดในวง เงาะ ลองกอง สละ และจำปาดะ เป็นต้น จึงทำให้เหมาะที่จะส่งเสริมและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสู่มาตรฐานการส่งออก ควบคู่ไปกับการพัฒนาการแปรรูป เพื่อทำให้การผลิตไม้ผลของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เกิดการพัฒนาต่อยอดสินค้าไม้ผลได้อย่างครบวงจร