posttoday

ศาลไม่รับคำขออนุญาตฎีกาส่งยงยุทธ วิชัยดิษฐเข้าคุกคดีทุจริตที่ดินอัลไพน์

05 มิถุนายน 2563

ศาลฎีกา ไม่รับคำขออนุญาตฎีกา “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ”อดีตปลัดมหาดไทย คดีทุจริตที่ดินอัลไพน์ เข้าเรือนจำรับโทษตามคำพิาพากษาชั้นอุทธรณ์จำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบกลาง ถ.นครไชยศรี วันที่ 17 ก.พ.63 ศาลนัดฟังสั่งศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อท.38/2559 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง “นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ” อายุ 78 ปี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

กรณีกล่าวหา “นายยงยุทธ” จำเลย ขณะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในการพิจารณาอุทธรณ์และสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีเจตนาช่วยเหลือบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด , บริษัท กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเวลาต่อมาให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

คดีนี้ “ศาลอาญาคดีทุจริตฯ” ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 ส.ค.59 เห็นว่า การที่นาย ยงยุทธ จำเลย พิจารณาอุทธรณ์และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินซึ่งให้ยกเลิกโฉนดที่ดินที่จดทะเบียนในนาม ‘สนามกอล์ฟอัลไพน์’ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นธรณีสงฆ์จากการที่นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ที่ถึงแก่ความตายแล้วได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหารนั้น จำเลยออกคำสั่งโดยมิชอบ โดยจงใจละเลยข้อเท็จจริงต่างๆ และยังจงใจตีความกฎหมายให้ผิดเพี้ยนไปจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2482 ที่ระบุให้กระทรวงถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้นคำสั่งของนายยงยุทธ จำเลยจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแก่ผู้อื่น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ทั้งยังทำลายศรัทธาของผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงมีความผิดตามฟ้องให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอการลงโทษ (ไม่รอลงอาญา)

ต่อมา จำเลยยื่นอุทธรณ์และได้รับประกันตัวไปวงเงินประกัน 500,000 บาท ซึ่งคดีมีการอ่านคำพิพากษาของ “ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” เมื่อวันที่ 28 ก.พ.62 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่าการที่จำเลยขณะดำรงตำแหน่งรักษาการปลัดมหาดไทยแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนมติอธิบดีกรมที่ดินเรื่องที่ดินอัลไพน์เป็นที่ธรณีสงฆ์โดยไม่นำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งมีแนวทางวินิจฉัยไว้แล้วมาพิจารณาประกอบเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบและโดยทุจริต ทั้งที่แนวทางปฏิบัติเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นมาแล้วฝ่ายบริหารจะให้หน่วยราชการยึดถือปฏิบัติธรรมเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินในมาตรฐานทางเดียวกัน เพราะมิเช่นนั้นในแต่ละยุคสมัยจะมีความเห็นต่างกันสร้างความเสียหายแก่ระบบบริหารราชการแผ่นดินได้

ขณะที่ “นายยงยุทธ” จำเลย ได้ยื่นขออนุญาตฎีกา ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ตามมาตรา 42, 44, 46 ที่บัญญัติว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุด หากคู่ความประสงค์จะฎีกาจะต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณา ซึ่งระหว่างยื่นขออนุญาตฎีกาดังกล่าว จำเลยได้ประกันตัวไปด้วยหลังทรัพย์มูลค่า 900,00 บาทพร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

ซึ่งวันนี้ “นายยงยุทธ” จำเลย เดินทางมาศาลพร้อมฟังคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา

ขณะที่ “ศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องฯ” ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า คำร้องขอฎีกาของนายยงยุทธ จำเลยไม่ได้แสดงถึงปัญหาข้อเท็จจริง หรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกา ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ตามมาตรา 47 และข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ข้อ 28 (1) จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา โดยให้ยกคำร้องและไม่รับฎีกาของจำเลย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องฯไม่รับฎีกาของจำเลยแล้ว ตามขั้นตอนกฎหมายผลคำพิพากษาคดีนี้จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา โดยเมื่อเวลา 12.00 น.เศษ ศาลได้ออกหมายคดีถึงที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะได้ควบคุมตัว “นายยงยุทธ” จำเลยไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ทั้งนี้ สำหรับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 เกี่ยวกับการขออนุญาตฎีกา ในมาตรา 47 บัญญัติว่า หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำร้อง การพิจารณาวินิจฉัย และระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องตามมาตรา 44 การตรวจรับฎีกา การแก้ฎีกา การพิจารณา และการพิพากษาคดีให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

ส่วน “ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ข้อ 28” นั้นก็ระบุว่า คำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณา ต้องแสดงถึง (1) ปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกา (2) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 หรือในข้อบังคับนี้ ซึ่งศาลฎีกาควรรับวินิจฉัย

ขณะที่เหตุผลในการยื่นขออนุญาตฎีกานั้น ตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ มาตรา 46 ระบุว่า เหตุที่ศาลฎีกาจะพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้นั้น คือ ต้องเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ซึ่งรวมถึงปัญหาดังต่อไปนี้

(1) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ

(2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา

(3) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน

(4) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น

(5) เมื่อจำเลยต้องคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

(6) เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วอาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

(7) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา