posttoday

ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าขอรมว.สธ.ทบทวนคำสั่งแบน

22 พฤษภาคม 2563

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเปิดเพจเฟซบุ๊กให้แสดงความคิดเห็นเนื่องในวันสูบบุหรี่โลก 31พ.ค. ขอรมว.สธ.ทบทวนคำสั่งแบน

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST)” เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก เราได้เปิดแคมเปญรณรงค์ออนไลน์ทางช่องทางเฟซบุ๊กเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ระหว่างวันที่ 21-31 พ.ค. 2563 เพื่อทำกิจกรรมหลายรูปแบบ โดยเชิญชวนให้ผู้สูบบุหรี่ ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและหรือผู้ที่สนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ มาร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการลดอันตรายจากบุหรี่ของประเทศไทย รวมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นจากแขกรับเชิญทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักกฎหมายชื่อดัง และส.ส. จากพรรคก้าวไกล ที่เพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร”

“ที่ผ่านมาผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยถูกจับกุม-รีดไถ และถูกยัดเยียดข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง มีการบิดเบือน เพื่อสร้างความหวาดกลัว มากกว่าการให้ข้อมูลที่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือหรือเป็นที่ยอมรับ ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทั่วประเทศซึ่งตอนนี้อาจมีถึง 500,000 คน ล้วนไม่มีทางออกเพราะรัฐและ NGO ที่ต่อต้านบุหรี่ปิดกั้นข้อมูลทุกวิถีทาง เราจึงทำแคมเปญออนไลน์เพื่อนำความจริงมาสู่สาธารณะ รับฟังเสียงผู้ใช้ และจะเป็นตัวกลางนำความเห็นเหล่านี้ส่งถึง รมว.สธ. โดยหวังว่าท่านจะรับฟังความเห็นที่แตกต่างบ้าง” นายมาริษ กล่าว

นายมาริษ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยแบนบุหรี่ไฟฟ้าโดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อันตรายกว่าบุหรี่ จึงจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งความเป็นจริงเราก็เห็นว่าแม้บุหรี่ไฟฟ้าจะถูกแบนอยู่ แต่ยังเห็นผู้ใช้ในประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงเด็กและเยาวชนด้วย สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของนโยบายการแบนบุหรี่ไฟฟ้าของไทย เราจึงต้องเปิดแคมเปญออนไลน์เพื่อให้ผู้ใช้และคนทั่วไปได้รับทราบความจริงอีกด้าน และอยากเชิญชวนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแบนทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่า มาร่วมกันแสดงความเห็นโดยติด #บอกหนูหน่อย ที่เพจบุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร ให้มากที่สุดเพื่อส่งเสียงไปให้ถึงรัฐบาลและผู้มีอำนาจให้ทบทวนนโยบายการแบนบุหรี่ไฟฟ้าให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยผู้สูบบุหรี่ไทย

ด้านนายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกรายกล่าวเสริมว่า รู้สึกผิดหวังที่ รมว สธ ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มาจากพรรคภูมิใจไทยที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน แต่ไม่รับฟังเสียงของฝั่งผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเลย มีการประโคมข่าวว่าการสูบบุหรี่หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เสี่ยงโควิด-19 มากขึ้น ทั้งๆ ที่ผลการศึกษาจากหน่วยงานวิจัยต่างประเทศ เช่น สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ และ อย. สหรัฐระบุว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ชี้ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือไอของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นช่องทางแพร่กระจายโรคโควิด-19

ส่วนข้อมูลจากเว๊ปไซด์ขององค์การอนามัยโลกก็ระบุเพียงว่า WHO กำลังศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการสูบบุหรี่ การใช้นิโคติน และการเกิดโรคโควิด-19 และแนะนำผู้สูบบุหรี่หรือผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้ระวังการสัมผัสของมือกับริมฝีปาก

“วารสารทางการแพทย์ชั้นนำของโลก New England Journal of Medicine หรือ NEJM เคยตีพิมพ์ผลการศึกษาซึ่งทำการทดลองเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่าอัตราการเลิกบุหรี่เป็น 18.0% ในกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ในขณะที่ผู้ใช้นิโคตินทดแทนเลิกบุหรี่ได้เพียง 9.9% หลายๆ ต่างประเทศ เช่น อังกฤษ และสหภาพยุโรปจึงแนะนำให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกแทนการสูบบุหรี่และเป็นเครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่ได้ และมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ทำให้จำกัดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในเฉพาะกลุ่มผู้สูบบุหรี่ปัจจุบันหรือผู้ที่เลิกบุหรี่ และป้องกันไม่ให้เยาวชนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ ซึ่งมูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ของอังกฤษ (ASH UK) ยืนยันว่าการทดลองบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กอายุ 11-18 ปีลดลงเหลือ 15.4% ในปี 2019 จาก 16.0% ในปี 2018 ขณะที่เด็กที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำมีเพียง 0.8%” นายอาสา กล่าว