posttoday

พบคน "ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว-รวมกลุ่มมั่วสุม" เพิ่มหลังรัฐผ่อนคลายมาตรการ

10 พฤษภาคม 2563

โฆษก ตร. สรุปภาพรวม 7 วันหลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ พบคดีฝ่าฝืนเคอร์ฟิวเพิ่ม 22.09% ขณะที่คดีมั่วสุม เพิ่ม 6.02% วอนประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ระบาดหนักอีก

เมื่อวันที่ 10 พ.ค.63 พลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ รองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงภาพรวมการดำเนินการของ ศปม.หลังมีการผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางประเภทว่า หลังการประกาศผ่อนคลายให้ทำกิจกรรมบางประเภทได้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เก็บรวบรวมสถิติการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดใน 2 ลักษณะคือ การออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว และ การรวมกลุ่มมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ โดยเปรียบเทียบ ก่อนและหลังมีการผ่อนคลาย

จากสถิติพบว่า หลังจากที่มีการผ่อนคลายการทำกิจกรรม ภาพรวมของการกระทำความผิดมีจำนวนที่สูงขึ้น คือ จากเดิม 4,407 คดี เพิ่มเป็น 5,363 คดี สูงขึ้น 956 คดี คิดเป็นร้อยละ 21.69

เมื่อแยกดูรายละเอียดการกระทำความผิดของการออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว พบว่า เพิ่มจาก 3,743 คดี เป็น 4,570 คดี เพิ่มขึ้นจำนวน 827 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 22.09 โดยเป็นการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นในทุกประเภท คือ ออกมาทำธุระโดยไม่มีเหตุอันสมควร การเดินทางกลับที่พักเกินเวลา การออกมาขับขี่รถเล่น และอื่นๆ ตามลำดับ

สำหรับความผิดของการรวมกลุ่มมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อนั้น พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 664 คดี เป็น 704 คดี เพิ่มขึ้นจำนวน 40 คดี คิดเป็นร้อยละ 6.02 โดยพบว่าเป็นการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นในลักษณะของ การตั้งวงสุรา และเสพยาเสพติด สวนทางกับการลักลอบเล่นการพนันที่มีจำนวนรายคดีลดลง แต่มีการรวมกลุ่มกันของผู้เล่นจำนวนมากขึ้น

ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ได้มีการปรับยุทธวิธีการปฏิบัติ เพื่อดำรงความต่อเนื่องในการบังคับใช้มาตรการ ข้อกำหนดต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ โดยมอบหมายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยหลักในการวางแผนและประสานการปฏิบัติในการจัดชุดสายตรวจร่วมระหว่าง ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และสาธารณสุข เข้าตรวจสอบกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายทั้งจากส่วนกลาง และส่วนพื้นที่ รวม 2 ประเภท ได้แก่

1. ชุดตรวจตามมาตรการผ่อนคลายส่วนกลาง มี ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นหัวหน้าชุดตรวจ ประกอบกำลังจาก หน่วยขึ้นตรงต่างๆ มีชุดแพทย์เคลื่อนที่ และผู้แทนส่วนราชการอื่นในพื้นที่เข้าร่วม โดยจะเข้าดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่มีความสำคัญหรือเพ่งเล็งเป็นพิเศษ และเสริมด้วยการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ การเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันโรคให้ผู้ประกอบการและประชาชน รวมทั้งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

2. ชุดตรวจร่วมตามมาตรการผ่อนคลายประจำพื้นที่ จะมีการจัดชุดตรวจร่วมลงไปจนถึงในระดับเขตหรืออำเภอ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นหัวหน้าชุดตรวจ และมีทหาร ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข และหน่วยราชการอื่น เข้าร่วม

ชุดตรวจทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว จะเน้นเข้าจัดระเบียบการประกอบกิจการและกิจกรรม โดยให้ความสำคัญกับการประสานงานและการบูรณาการแผนการปฏิบัติ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพส่งผลให้สามารถพิจารณาผ่อนคลายมาตรการในระยะต่อไปได้อย่างเหมาะสม

ที่ผ่านมามีผลการตรวจกิจการ ทั้งร้านอาหารเครื่องดื่ม ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านค้าปลีก ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย สนามกีฬา และร้านดูแลสัตว์เลี้ยง รวมแล้วกว่า 90,913 ครั้ง พบว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมาตรการเป็นส่วนน้อยคือ จำนวน 3,039 ราย หรือคิดเป็น ร้อยละ3.34 ซึ่งในช่วงแรกอาจเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจ โดยจากการเข้าไปประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการพบว่า มีการให้ความร่วมมือที่ดี และปรับปรุงมาตรการทั้งในส่วนของมาตรการควบคุมหลัก และมาตรการเสริม จนพบว่า มีจำนวนที่ไม่ปฏิบัติตามมีแนวโน้มลดลง

พลตำรวจโท ปิยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากพี่น้องประชาชน ได้โปรดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และมาตรการที่ทางภาครัฐได้กำหนดไว้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะยังคงคุมเข้ม และเข้มงวดมาตรการต่างๆ ทั้งในด้านสาธารณสุข การเดินทาง และอาชญากรรม เพื่อไม่ให้สถานการณ์กลับมารุนแรงขึ้นใหม่

ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อน ต้องการแจ้งเหตุหรือเบาะแส เพื่อให้ตำรวจดำเนินการ สามารถติดต่อได้ที่ โทรศัพท์สายด่วน 192 1155 1599 สายด่วนรัฐบาล 1111 หรือผ่านทางแอปพลิเคชั่น Police I lert u ได้ตลอด 24 ชั่วโมง