posttoday

"หม่อมเต่า"นำทีมแจงมาตรการเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด - 19

25 มีนาคม 2563

รมว.แรงงานขนทีมงานแจงมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 ทั้งจ่ายค่าทดแทนการขาดรายได้ ลดเงินสมทบ ตั้งศูนย์พาร์ทไทม์ ฝึกอาชีพครัวเรือนทั้งในและนอกระบบ

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน แถลงถึงมาตรการเร่งด่วนของกระทรวงแรงงานเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 นั้น เป็นมาตรการเยียวยาลูกจ้างผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50 % ของค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน แต่ไม่เกิน 180 วัน

ทั้งนี้กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการชั่วคราว และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 60 วัน ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มีนาคม - 31 สิงหาคม 2563 กรณีเจ็บป่วยเป็นโควิด - 19สามารถรักษาฟรีได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ การลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนในส่วนของนายจ้าง จากเดิม 5 % ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือ 4 % ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนจากเดิม 5 %ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือ1 % เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงาน ยังมีมาตรการเยียวยาแก่แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ ร้านค้า สถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราว ได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน Part - time เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่ต้องการทำงานแบบรายชั่วโมง และบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่สถานประกอบการ

นอกจากนี้ จะฝึกอบรมอาชีพเศรษฐกิจพอเพียงในครัวเรือน ให้แก่กลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อให้สามารถนำทักษะความรู้ไปประกอบอาชีพอิสระได้ ฝึกโดยกรมการจัดหางาน 2,000 คน เมื่อฝึกจบแล้วจะมอบเครื่องมือทำกินให้สามารถนำไปต่อยอด ให้มีอาชีพ มีรายได้ ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีเป้าหมายการฝึก 7,800 คน โดยระหว่างฝึกมีเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 150 บาท รวมกลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 9,800 คน

ด้าน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยว่า มีแนวทางช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนและนายจ้าง ด้วยการลดหย่อนเงินสมทบในส่วนของนายจ้างลง เหลือร้อยละ 4 ส่วนลูกจ้างลดหย่อนลง เหลือร้อยละ 1 โดยการนำส่งตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ให้ยืดออกไปอีก 3 เดือน ส่วนกรณีผู้ประกันตนที่นายจ้างไม่ให้ทำงานจากเหตุสุดวิสัย ให้รับเงินว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 วัน และกรณีหน่วยงานภาครัฐให้หยุดกิจการชั่วคราว ให้รับเงินกรณีว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างไม่เกิน 60 วัน ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระก็สามารถได้สิทธิเดือนละ 5,000 บาท ตามที่กระทรวงการคลังให้ไว้

ทั้งนี้ ต้องดูเงื่อนไขของกระทรวงการคลังประกอบ โดยสามารถเข้าไปขอใช้สิทธิได้ที่เว็บไซต์กระทรวงการคลัง www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันที่ 28 มีนาคม เป็นต้นไป

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ทางกรมมีแนวทางการฝึกอาชีพให้แก่ 1.แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงาน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย 390 รุ่น ทั่วประเทศ ประมาณ 8,000 คน ใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท ระยะเวลาฝึก 50 วัน และ 2.การฝึกแรงงานในระบบการจ้าง โดยพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้สูงขึ้น เพื่อให้มีทักษะการทำงานดีขึ้น เป็นระยะเวลา 1 เดือน เช่น หลักสูตรการใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงาน การเขียนแบบคอมพิวเตอร์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 7,000 คน 350 รุ่น ใช้งบประมาณ 35 ล้านบาท

ด้าน นายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน กล่าวถึงการจัดการแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ว่า หากประสงค์ที่จะทำงานต่อให้มารับใบขออนุญาตทำงานภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่สำนักงานกรม และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (one stop service) ในกรุงเทพมหานคร 4 แห่ง และ ภูมิภาค อีก 38 แห่ง โดยนายจ้างสามารถยื่นบัญชีรายชื่ออนุมัติทางออนไลน์ได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามสามารถอยู่ชั่วคราวต่อไปได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยยกเว้นค่าปรับอยู่เกินกำหนด

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวชี้แจงกรณีสถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราว ว่า ตามข้อกฎหมายหากมีเหตุจำเป็นก็สามารถหยุดกิจการชั่วคราวได้ แต่การจ่ายเงินให้กับลูกจ้างอาจไม่สามารถจ่ายได้เต็มตามที่ลูกจ้างได้รับ แต่อย่างไรก็ต้องจ่ายไม่น้อยกว่า75 % ของรายได้ที่ลูกจ้างได้รับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานจัดตั้งศูนย์สถานการณ์รองรับการว่างงาน โดยเป็นศูนย์ทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยจะดูว่าบริษัทใดต้องการความช่วยเหลือ ช่วยประสานกันระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ประกอบการ เป็นศูนย์รวมข้อมูล เช่นผู้ประกอบการที่ต้องการตำแหน่ง ต้องการจ้างเพิ่มก็ยังมีหลายตำแหน่ง และได้จัดตั้งศูนย์ Part Time ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนอีกส่วนหนึ่ง

สำหรับกรณี ที่ลูกจ้างถูกบังคับให้เซ็นต์ลาออกถือเป็นเจตนามิชอบ จึงเป็นการลาออกด้วยความมิชอบ ส่วนลูกจ้างที่กังวลใจปัญหาสุขภาพ และขอกักตัว 14 วัน จะได้รับสิทธิหรือไม่นั้น อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยืนยันว่า คงต้องใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์ พูดคุยกัน แต่แนะนำให้ใช้สิทธิลาป่วยตามกฎหมาย ได้ 30 วัน ลาพักร้อน ตามสิทธิที่มีไปก่อน