posttoday

สธ.แถลงไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด19เพิ่ม รักษาหายกลับบ้านได้อีก2ราย

08 มีนาคม 2563

รองอธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสในไทยเพิ่ม และมีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้อีก 2 ราย เผยผู้ป่วยในไทยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง มีผู้ที่ต้องใช้ยาต้านไวรัสน้อยมาก

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 63 นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ว่า วันนี้ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติม และมีผู้ป่วยที่รักษาหายกลับบ้านอีก 2 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยที่กลับบ้านแล้ว 33 ราย และยังคงรักษาในโรงพยาบาล 16 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 50 รายเท่าเดิม โดยขณะนี้สถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 27 ของโลก

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. – 7 มี.ค. 63 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 4,366 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 181 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 4,185 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 2,629 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,737 ราย

สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกใน 96 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 ม.ค. – 8 มี.ค.63 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 106,195 ราย เสียชีวิต 3,600 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 80,696 ราย เสียชีวิต 3,097 ราย

นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ความเสี่ยงสำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มี 2 แบบ คือความเสี่ยงที่จะติดเชื้อกับความเสี่ยงที่จะรักษาหายหรือไม่

ขณะนี้ไทยมียอดผู้ป่วยสะสม 50 ราย เสียชีวิต 1 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 33 ราย โดยจำนวน 33 คน มีคนที่ใช้ยาต้านไวรัสน้อยมาก บ่งชี้ถึงว่าโรคดังกล่าวสามารถหายได้เอง โดยไม่ต้องได้รับยาต้านไวรัส และเมื่อพิจารณาจากตัวเลขต่างประเทศ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80-90% หายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส แต่การที่ไทยรับผู้ป่วยทั้งหมดไว้ดูแลในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น

"ยืนยันว่าโรคนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและไม่มีความจำเป็นจะต้องได้รับยาต้านไวรัสเลย แต่จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาล เรามีตัวเลขอยู่ประมาณ 10% ป่วย 100 คนอาจจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 10 คน ถ้าเราวิเคราะห์เฉพาะว่าเขามีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยความรุนแรงของโรคจริง ๆ มีไม่มาก"

"แต่ในปัจจุบันถามว่าทำไมเรารับหมดทั้ง 50 คน สามารถตอบได้ว่าตอนนี้เรารู้จักกับโรคค่อนข้างน้อย และความสำคัญในนาทีนี้คือการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยไปแพร่เชื้อที่อื่นอีกจึงรับไว้รักษาในโรงพยาบาลให้เขาอยู่ในห้องแยก พอเขาเข้าโรงพยาบาลโอกาสที่เขาจะไปแพร่โรคกับคนอื่นก็จะกลายเป็นศูนย์ทันที เพื่อลดผู้ป่วยที่จะเดินอยู่ในสังคม เป็นความเสี่ยงที่เขาอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วไปแพร่โรคให้กับคนอื่น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เรารับดูแลเป็นผู้ป่วยอาการไม่มากเลย ถ้าเป็นโรคอื่นที่มีความเสี่ยงในการแพร่โรคต่ำ บอกได้เลยว่าส่วนใหญ่อาจจะไม่จำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาลด้วยซ้ำไป"นพ.ธนรักษ์ กล่าว