posttoday

ศาลยุติธรรมชี้คดีอุ้มพี่ชายผู้พิพากษา ขู่ให้ยกฟ้องคดีโอนหุ้น"เสี่ยชูวงษ์"เป็นเคสร้ายแรง

23 กุมภาพันธ์ 2563

เลขาฯ ศาลยุติธรรมระบุคนร้ายอุ้มพี่ชายผู้พิพากษาพาขึ้นรถหน้าศาล พร้อมโทรขู่กดดันให้ยกฟ้องคดีโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์ ศาลจึงประสานตร.เก็บความลับหาหลักฐานมัดคนร้ายจนออกหมายจับตัวได้ ยกเป็นเคสร้ายแรงแทรกแซงพิจารณาคดี

เมื่อวันที่ 23 ก.พ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีตำรวจกองปราบปรามจับกุม พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ จากการขยายผลกรณีอุ้มพี่ชายผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ว่า เท่าที่ทราบเหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.พ.63 เวลาประมาณ 17.30 น.มีคนร้ายจากหลักฐาน 3-4 คนร่วมกันอุ้มลักพาตัวนายวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ หายขึ้นไปบนรถที่จอดเตรียมมา บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งนายวีรชัยเป็นพี่ชายของผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนคดีโอนหุ้น นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง

ทั้งนี้ ภายหลังจากมีการลักพาตัว ในวันเดียวหันกลุ่มคนร้ายได้โทรศัพย์เข้ามาหาผู้พิพากษาอาวุโสท่านนั้นเพื่อข่มขู่คดี โดยให้ยกฟ้องคดีโอนหุ้นนายชูวงษ์ แซตั๊ง (คดีดังกล่าวกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 มี.ค.นี้ ซึ่งในคดีมี พ.ต.ท.บรรยิน เป็น 1 ในจำเลยร่วมกับสาวโบรคเกอร์และสาวพริตตี้)

หลังจากนั้น ผู้พิพากษาอาวุโส ได้เข้าแจ้งความ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บันทึกเทปสนทนาการข่มขู่ดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน โดยในส่วนขอสำนักงานศาลยุติธรรม และศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีการตั้งทีมสืบสวนขึ้นมาในวันดังกล่าวทันที โดยการสืบสวนสอบสวนก็ติดตามคดีเรื่อยมา แต่ด้วยความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยของตัวประกัน เรื่องดังกล่าวจึงต้องอยู่ในชั้นความลับไม่สามารถที่จะเป็นข่าวได้

ทั้งนี้ ทางทีมสืบสวนสอบสวน สามารถสืบทราบว่า มีใครเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุบ้าง และทราบว่ามีคดีที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ลักพาตัวครั้งนี้ 2 คดี คือคดีฆาตกรรมนายชูวงษ์ และคดีปลอมเอกสารการโอนหุ้น 300 ล้านบาทโดยทุจริต เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ทีมสืบสวนจึงได้ติดตามสถานที่กบดานคนร้าย กระทั่งเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา จึงได้ขออนุญาตศาลอาญาออกหมายจับ และสามารถจับกุมตัวคนร้ายได้ตามที่เป็นข่าว

นอกจากนี้ ยังมีการขอหมายค้น 20 กว่าจุด เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานมัดตัวคนร้ายให้ครบถ้วน ซึ่งทราบว่าตอนนี้สามารถจับคนร้ายได้ 3 คนแล้ว และกำลังตามจับบางส่วนที่ยังหลบหนีอยู่ สำหรับเรื่องจำนวนคนร้ายที่ก่อเหตุนั้น ถ้าสืบสวนไปเกี่ยวพันถึงใคร ตำรวจก็คงจะขอหมายจับเพื่อจับกุมมาดำเนินคดีต่อไป

นายสราวุธ กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยนายอาคม รุ่งแจ้ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ , นายชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองเลขาธิการประธานศาลฎีกาตัวแทนของนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ซึ่งติดภารกิจเดินทางไปประชุมที่ต่างประเทศ เดินทางไปให้กำลังใจผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ พร้อมแจ้งข่าวการจับกุมคนร้ายให้ได้ทราบ ซึ่งท่านผู้พิพากษาก็ยังอยู่ในภาวะเสียใจ โดยสำนักงานศาลยุติธรรมก็จะดูแลความปลอดภัยต่อไป โดยตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา เราได้ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดหน่วยคุ้มกันดูแลความปลอดภัยมาโดยตลอด หลังเกิดเหตุท่านก็ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากวันนี้เรื่องการคุ้มกัน ความปลอดภัยผู้พิพากษา และบริเวณศาล นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือคอร์ทมาร์แชล (Court Marshal) จะเข้าไปเสริมการดูแลในเรื่องคุ้มกัน และการเดินทางปฏิบัติหน้าที่ ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นหลักฐานทั้งหมดที่ทางศาลมีเราก็ส่งให้ตำรวจกองปราบหมดแล้ว ทั้งกล้องวงจรปิด ที่จับภาพคนร้าย พบไม่ต่ำกว่า 3 คน มาดักรอที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ตั้งแต่ก่อนลักพาตัวประมาณ 1 ชั่วโมง

ส่วนเรื่องวงจรปิดจับภาพ พ.ต.ท.บรรยินได้เลยหรือไม่นั้นต้องถามเจ้าหน้าที่ซึ่งแจ้งว่า มีพยานหลักฐานครบถ้วนในการออกหมายจับ พ.ต.ท.บรรยินกับพวกแล้ว ซึ่งรายละเอียดจะอยู่ในสำนวนสอบสวนที่ตำรวจจะแถลงต่อสื่อมวลชนเอง

"ต้องขอบคุณ ผบ.ตร.ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก จนสามารถจับตัวคนร้ายได้ ช่วงที่ผ่านมาประธานศาลฎีกาให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก ท่านจะพูดทุกครั้งในการประชุม ก.ต. และ ก.บ.ศ. ด้วยความห่วงใยความปลอดภัยของผู้ถูกลักพาตัว แต่เราต้องเก็บเป็นความลับ เพื่อคำนึงความปลอดภัย ที่ผ่านมาหลังเกิดเหตุ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. , พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบช.ก. , พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผบก.ป. ได้รายงานความคืบหน้าให้ประธานศาลฎีกาทราบอยู่เป็นระยะมาตลอด" นายสราวุธ เลขาสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าว

นายสราวุธ กล่าวว่า เหตุการณ์การจับตัวประกันเพื่อต่อรองให้ตัดสินคดีที่เกิดขึ้น นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นในศาลยุติธรรมมาก่อน ถือว่ากระทบความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษา หลังจากนี้หน่วยของศูนย์รักษาความปลอดภัยคือตำรวจศาล มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยอาคารสถานที่ และความปลอดภัยของตัวบุคคล ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมจะต้องวางมาตรการในเชิงป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ต่อไปหากมีคดีสำคัญหรือเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพลเราก็จะต้องวิเคราะห์เรื่องการป้องกันเหตุที่อาจจะเกิด เราอาจต้องมีการอารักขาตัวองค์คณะ ดังนั้นเราจึงต้องมีการเพิ่มอัตรากำลังเจ้าพนักงานตำรวจศาล โดยเร็ว ซึ่งปัจจุบันมีที่อยู่ระหว่างการอบรมเพื่อบรรจุเเต่งตั้งชุดใหม่ให้ได้คุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด