posttoday

"สมศักดิ์" คาดกฎหมายปลด "กระท่อม" พ้นบัญชียาเสพติดผ่านสภามิ.ย.นี้

15 มกราคม 2563

"สมศักดิ์" กฎหมายปลดกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติดผ่านสภามิ.ย.นี้ เตรียมประสานกระทรวงทรัพยากรฯ เพาะต้นกล้ากระท่อม "พันธุ์นาสาร" แจกชาวบ้านปลูก สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ

"สมศักดิ์" กฎหมายปลดกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติดผ่านสภามิ.ย.นี้ เตรียมประสานกระทรวงทรัพยากรฯ เพาะต้นกล้ากระท่อม "พันธุ์นาสาร" แจกชาวบ้านปลูก สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 63 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการเสวนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ...) พ.ศ..

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายมีความพร้อมประมาณ 95 % หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 22 ม.ค.จะนำร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ...) ที่มีการแก้ไขปลดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพให้โทษ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการป.ป.ส. และคาดว่าจะเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 มี.ค.

จากนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณารายละเอียด ก่อนนำกลับเข้าครม.เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯตามขั้นตอน เบื้องต้นเชื่อว่าคงไม่มีใครคัดค้านการปลดล็อกกระท่อม แต่ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่จะผ่านสภาฯ 3วาระรวด ยังต้องมีการตั้งคณะกรรมมาธิการขึ้นมาศึกษา จึงประเมินว่าสภาฯจะพิจารณาผ่านร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จประมาณวันที่ 10 มิ.ย.63

“กระท่อมถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2485 แม้จะมีความพยายามยกเลิกแต่ยังติดขัดเหตุผลบาง อย่าง ปัจจุบันในสภาฯไม่มีส.ส.คนใดคัดค้านการปลดกระท่อมออกจากยาเสพติด ตรงกันข้าม ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่า มีการศึกษาให้ยกเลิกกระท่อมตั้งแต่ ปี 2546. เหตุใดจึงยังทำไม่ได้ ผมไม่ใช่นักกฎหมาย ไม่รู้ไส้ในว่ากฎหมายต้องประ กอบด้วยเนื้อหาอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ทำได้คือกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนว่า การปลดกระท่อมออกจากยาเสพติดจะสำเร็จเมื่อใด และผมยังคาดหวังให้มีการพัฒนาวิจัยกระท่อม เพื่อนำไปเลิกยาบ้า ยาไอซ์ ถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์กับคนทั้งโลก เรื่องกระท่อมเราช้ากว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะคุณสมบัติดีๆมีอยู่มาก ถ้าช้าก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะจะไปกระทบผล ประโยชน์ของคนอื่น เราจึงต้องเดินหน้าเรื่องกระท่อมให้เร็วที่สุด”นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวถึงสถิติคดีที่เกี่ยวกับกระท่อมว่า ตั้งแต่เดือน มค.- ต.ค.62 มีจำนวน 50,000 คดี ผู้ต้องหาบางรายติดคุก 15 วัน บางรายเสียค่าปรับ หากคิดเป็นค่าใช้จ่ายทางคดีนั้น รัฐจะมีค่าใช้จ่ายทางคดีที่ต้องจ่ายให้กับตำรวจ อัยการ และศาล ประมาณคดีละ 20,000 บาท หากกระท่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมายจะสามารถประหยัดงบประมาณของรัฐไปได้ 1,000 ล้านบาทต่อปี

เมื่อถามถึงการคัดค้านไม่ให้ปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ข้อขัดข้องมีเพียงเรื่องของผลประโยชน์เรื่องเดียวเท่านั้น เพราะกระท่อมมีสรรพคุณในเรื่องการบรรเทาอาการปวด ใช้ทดแทนมอร์ฟีน หากมีการพัฒนาเป็นระบบอุตสาหกรรมทางยาก็จะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและลดการนำเข้ายา

ส่วนข้อกังวลเรื่องการลักลอบนำเข้าใบกระท่อมจากต่างประเทศ นั้น เชื่อว่าหากมีการปลดล็อกพืชกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติดแล้ว ป.ป.ส. จะหาทางแก้ปัญหาได้ อาจจะให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพาะพันธุ์ ต้นกล้ากระท่อมแจกประชาชนให้ปลูก แต่ต้องดูเรื่องความเหมาะสมด้วยว่าจะอนุญาตให้ปลูกหมู่บ้านละกี่ที่ต้น

"ตอนนี้มีต้นกระท่อมที่จะเป็นจะใช้เป็นพันธุ์ที่ดี สามารถเพาะแจกจ่ายให้ประชาชนได้แล้ว โดยอยู่ในแปลงนำร่องที่ อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่กระท่อมยังไม่ได้ปลดล็อกก็อย่าเพิ่งอวดอ้างการปลูกและการใช้ทางยา ขอให้อดใจรอ หากปลดล็อกแล้วมีการรณรงค์ให้ปลูกค่อยปลูก ตอนนี้ใครปลูกก่อนต้องถูกตัด"

ด้านนายวิชระ อำพนธ์ ที่ปรึกษาองค์การอาหารและยา(อ.ย.) กล่าวว่า ไทยออกกฎหมายควบคุมกระท่อม เพราะในอดีตกระท่อมกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีฝิ่น ทำให้กระท่อมถูกกำหนดเป็นยาเสพติดจนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมามีความพยามปลดกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติด แต่ต้องสะดุดเมื่อถูกตรวจสอบพบว่ามีการนำกระท่อมไปผสมเป็น 4x100 มีการใช้อย่างแพร่ระบาด และเผยแพร่สูตรปรุงยาผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้นเมื่อมีการปลดล็อกกระท่อมก็ยังจำเป็นต้องควบคุม โดยอนุญาตให้ใช้ตามใบสั่งยาของแพทย์ ห้ามไม่ใช้เพื่อสันทนาการ

ขณะที่นายอนันต์ชัย อัศวเมฆิน อ.ประจำคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า กระท่อมออกฤทธิ์ เหมือนฝิ่น แต่เสพติดน้อยกว่ามากและการปลดล็อกกระท่อมของไทยมีแนวโน้มที่ดี เพราะไม่เดินตามฝรั่งแต่ทำตามแบบวิถีไทย ต่างจากกัญชาที่เลียนแบบต่างประเทศ ทั้งๆที่เรามีแพทย์แผนไทย อย่างไรก็ตามหลังจากปลดล็อกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ครบ 6เดือนจะมีการประเมิน ผล ซึ่งจะพบว่าระเบียบที่ออกไม่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย