posttoday

ชาวบ้านร้องDSIถูกหลอกลงทุนเทรดเงินดิจิทัล

15 มกราคม 2563

ชาวบ้านร้องดีเอสไอรับคดีพิเศษหลังถูก "คุณน้อง เทรดเงินดิจิทัล" หลอกร่วมทุนซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศ-ลงทุนธุรกิจเครื่องสำอาง มูลค่าเสียหาย 75 ล้านบาท

ชาวบ้านร้องดีเอสไอรับคดีพิเศษหลังถูก "คุณน้อง เทรดเงินดิจิทัล" หลอกร่วมทุนซื้อขายสกุลเงินต่างประเทศ-ลงทุนธุรกิจเครื่องสำอาง มูลค่าเสียหาย 75 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 63 นายผดุงศักดิ์ เทียนไพโรจน์ ประธานสมาคมที่ปรึกษาสมาคมพิทักษ์ศักดิ์ ศรีความเป็นมนุษย์ นำชาวบ้านในพื้นที่อ่าวนาง และเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ จ.ตรัง แล จ.ชัยนาทกว่า 20 ราย ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้รับโอนคดีจาก สภ.เกาะลันตามาเป็นคดีพิเศษ กรณีถูกหลอกลวงให้นำเงินมาลงทุนกับแชร์คุณน้องเทรดเงินดิจิทัล ซึ่งเปิดให้ชาวบ้านเข้าร่วมลงทุนตั้งแต่เดือนต.ค.61

ทั้งนี้การลงทุนดังกล่าวสมาชิกสามารถเลือกการลงทุนใน 4 ประเภท ได้แก่ ลงทุนซื้อขายเงินบิทคอยน์ ลงทุนซื้อขายเงินวันคอยน์ ลงทุนเทรดเงินดิจิทัล และลงทุนทำธุรกิจเครื่องสำอาง โดยตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินกำหนด ต่อมาไม่มีการจ่ายเงินปันผลตามข้อตกลง

เบื้องต้นพบว่ามีชาวบ้านในหลายจังหวัด โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกหลอกเป็นจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายอยู่ 75 ล้านบาท โดยมีร.ต.อ.ธรรศ เลาห์ทวี รอง ผอ.กองธุรกิจการเงินนอกระบบ เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว

นางหนูพัด วะเจดีย์ ชาวบ้าน ตำบลศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ กล่าวว่า ได้รับการชักชวนจากแม่ข่ายรายหนึ่งบนเกาะลันตาให้เข้าร่วมซื้อเหรียญวันคอยน์ ตั้งแต่เดือนต.ค.61 โดยระบุว่าหากนำเงินมาลงทุน 1 แสนบาท จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 8,000 บาทต่อสัปดาห์ ครั้งแรกจึงนำเงินมาลงทุน 2 แสนบาท ได้รับค่าตอบแทน 16,000 บาท จึงตัดสินใจชักชวนญาติพี่น้องให้มาร่วมลงทุน เพราะว่าได้รับเงินปันผลเร็ว และตัดสินใจเพิ่มเงินลงทุนในครั้งที่สองจำนวน 3 แสนบาท โดยนำที่ดินจำนวน 3 ไร่ 1 งาน ไปจำนองกับนายทุนเงินกู้

ขณะนั้นคิดว่านำเงินปันผลมาจ่ายดอกเบี้ยก็คุ้มค่า ครั้งที่สามได้ลงทุนเพิ่มเป็น 6 แสนบาท โดยแม่ข่ายให้สัญญาว่า เป็นคนในพื้นที่จะไม่มีการโกงหรือหนี ไม่ต้องกลัว ปรากฏว่าเดือนถัดมายังไม่ได้รับผลตอบแทนกลับคืนมา แต่ได้ลงทุนเพิ่มไปอีก 1 แสนบาท เพราะหวังจะนำเงินมาจ่ายดอกเบี้ยจากการนำที่ดินไปจำนอง กระทั่งเดือนก.พ. 62 ก็ยังไม่ได้รับเงินปันผล จึงสงสัยสอบถามไปที่แม่ข่ายได้รับคำตอบว่ากระดานล่ม ให้รอ และขอไม่ให้เข้าไปแจ้งความ พร้อมทั้งได้เซ็นเช็คเงินสดจำนวน 1.5 ล้านบาท สั่งจ่ายธนาคารกสิกรไทย สาขาเกาะลันตา เมื่อนำไปขึ้นเงินปรากฏว่าเช็คเด้ง จึงทราบว่าน่าจะถูกหลอก

นางหนูพัด กล่าวอีกว่า นอกจากชาวบ้านในพื้นที่เกาะลันตาแล้ว ยังมีชาวบ้านจากกระบี่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ถูกแม่ข่ายรายนี้หลอกลวงโดยพลิกแพลงวิธีการไปเรื่อยๆ เฉพาะในพื้นที่เกาะลันตาพบว่ามี 6 แม่ข่าย หรือประมาณ 24 คน ทำหน้าที่ชักชวนชาวบ้านให้ร่วมลงทุน และใช้ชื่อเสียงของข้าราชการในพื้นที่สร้างความน่าเชื่อถือของธุรกิจ ทำให้คนหลง เชื่อนำเงินไปลงทุน โดยแม่ข่ายหัวหน้าทีมจะอ้างว่าตนเองมีความรู้ด้านการเทรดเงินตราระหว่างประเทศ และเป็น 1 ใน 21 คนของนักลงทุนในตลาดหุ้นและเป็นที่รู้จักในตลาดหลักทรัพย์ ชาวบ้านเห็นว่ามีข้าราชการเข้าไปร่วมลงทุนเป็นจำนวนมากจึงชักชวนกันไปคิดว่าไม่น่าจะถูกหลอก

ขณะที่ แม่ข่ายรายหนึ่งที่เข้าร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ ระบุว่า เป็นแม่ข่ายของแชร์เทรดเงินดิจิทัล ได้รับฝากเงินจากลูกข่ายจำนวน 13 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนเทรดเงิน ช่วงแรกได้รับเงินปันผลไปจ่ายคืนให้กับสมาชิกทุกราย แต่ต้นก.พ.62 ได้รับแจ้งจากหัวหน้าทีมแม่ข่ายว่าเศรษฐกิจไม่ดี การเทรดเงินขาดทุน ล่มทั้งกระดาน ขอให้รอ ซึ่งตนไม่ทราบว่ามีการเทรดเงินจริงหรือไม่ เพราะเป็นเพียงแม่ค้าไม่มีความรู้เรื่องเงินดิจิทัล ไม่เข้าใจคำว่าเทรดเงิน ไม่เข้าใจคำว่าล่มทั้งกระดาน หัวหน้าแม่ทีมบอกแต่เพียงว่าให้รอ พร้อมเขียนเช็คให้จำนวน 50 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจและชี้แจงกับสมาชิก เมื่อการเทรดเงินมีกำไรสามารถติดต่อรับเงินต้นและเงินปันผลได้ทันที แต่ตนกลัวติดคุกจึงมาร้องทุกข์กับดีเอสไอ

ร.ต.อ.ธรรศ กล่าวว่า หลังจากรับคำร้องทุกข์แล้วได้ขอผู้เสียหายทั้งหมดทยอยเข้ามาเขียนคำร้องไว้ จากนั้นพนักงานสอบ สวนกองธุรกิจการเงินนอกระบบจะเข้าไปตรวจสอบว่ากรณีดังกล่าวมีพฤติการณ์เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ และมูลค่าความเสียหายมากพอที่จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งจากพฤติการณ์เบื้องต้นคล้ายกับแชร์ออมเงินแม่มณี ส่วนที่ชาวบ้านกังวลว่าหากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจะทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีได้นั้น ยืนยันว่าไม่ต้องกังวล และหากการสอบสวนพบว่าเกี่ยวพันถึงใครไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน