posttoday

สภาคริสตจักรฯเปิดเอกสารเบิกจ่ายเงินกรณีร.ร.กรุงเทพคริสเตียนฯซื้อร.ร.บึงกาฬพิทักษ์ฯ

15 มกราคม 2563

มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรฯเผยหลักฐานการทำผิดขั้นตอนเบิกจ่ายเงินโครงการซื้อกิจการโรงเรียนบึงกาฬพิทักษ์ศึกษาของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ พบมีความไม่ปกติของการลงนามสั่งจ่ายเช็คทั้งผู้มีอำนาจสั่งจ่ายและชื่อผู้รับเงิน

มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรฯเผยหลักฐานการทำผิดขั้นตอนเบิกจ่ายเงินโครงการซื้อกิจการโรงเรียนบึงกาฬพิทักษ์ศึกษาของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ พบมีความไม่ปกติของการลงนามสั่งจ่ายเช็คทั้งผู้มีอำนาจสั่งจ่ายและชื่อผู้รับเงิน

นายวิศาล มหชวโรจน์ ประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และกรรมการมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2562 มูลนิธิฯ ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ ตามความในมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 เพื่อขอคืนสิทธิในการบริหารจัดการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และเร่งจัดการปัญหาต่างๆ ให้คลี่คลายโดยคำนึงถึงประโยชน์ของโรงเรียนและนักเรียนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมหลักฐานและเอกสารสอบสวนการดำเนินงานในโครงการซื้อกิจการโรงเรียนบึงกาฬพิทักษ์ศึกษาและที่ดินโดยรอบ ซึ่งพบว่ามีการทำผิดขั้นตอนในกระบวนการดำเนินงานและการเบิกจ่ายเงินในโครงการฯ โดยส่งมอบหลักฐานทั้งหมดไปพร้อมกับการยื่นหนังสืออุทธรณ์ครั้งนี้ด้วย

นายวิศาล กล่าวว่า ในฐานะที่มูลนิธิฯ เป็นผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนฯ มีหน้าที่กำกับดูแลความเหมาะสมในการใช้เงิน ตรวจสอบการจ่ายเงิน และการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปตามระเบียบ ตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เพื่อความโปร่งใสและป้องกันความเสี่ยงที่อาจก่อความเสียหายต่อโรงเรียน มูลนิธิฯ จึงได้ทำการตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการอื่นๆ ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเพิ่มเติม อาทิ โครงการ space program โครงการจัดซื้อและจำหน่ายเครื่องทำความเย็น (chiller) โครงการจัดหาสนามฟุตบอล โครงการจัดจ้างแม่บ้านและพนักงานรักษาความปลอดภัย. เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีเอกสารจากโครงการดังกล่าวหลายประเด็นที่ต้องได้รับการอธิบายจากคณะกรรมการบริหารภายในโรงเรียนฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการทำงานที่ไม่ได้ขออนุมัติ ไม่ว่าจะเป็นการขออนุมัติโครงการ และการขออนุมัติใช้จ่ายเงิน ซึ่งกล่าวได้ว่ามีการทำผิดขั้นตอนตั้งแต่เริ่มโครงการเลยทีเดียว ส่วนจะมีเจตนาหรือมีผลก่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงเรียนหรือไม่นั้น คงต้องรอให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป

สำหรับกรณีโครงการซื้อกิจการโรงเรียนบึงกาฬพิทักษ์ศึกษา จ.บึงกาฬ และที่ดินโดยรอบ ซึ่งกรรมการมูลนิธิฯ ได้ทำการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำผิดไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2562 โดยมีประเด็นคือ การทำผิดหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของสภาคริสตจักรในประเทศไทยและมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ 2016 ข้อ 7 ที่ระบุว่า การจัดซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การซื้อกิจการ สิทธิในที่ดินทุกประเภท หรือสิทธิต่างๆ ดังกล่าวที่มีมูลค่าตั้งแต่ 10,000,000 บาท (สิบล้านบาท) ขึ้นไป ต้องมีการวิเคราะห์ ศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะและการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ความคุ้มค่าของโครงการ ประกอบการเสนอพิจารณาเพื่อขออนุมัติตามขั้นตอน

“กรรมการมูลนิธิฯ คาดหวังว่า เอกสารที่เกี่ยวกับ Feasibility Study และ Due Diligence จะมีความน่าเชื่อถือในการวิเคราะห์แผนการลงทุนด้านต่างๆ จากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ แต่สิ่งที่คณะกรรมการบริหารภายในของโรงเรียน แนบมาให้ในเอกสารการประชุม เป็นเพียงกระดาษไม่กี่แผ่นที่เขียนเป็นหัวข้อรายงาน จัดทำโดยบุคลากรของโรงเรียนเอง ทั้งยังไม่มีการส่งข้อมูลใดๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อประกอบการเสนอพิจารณาขออนุมัติตามขั้นตอน แต่ทางโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยกลับดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปเรียบร้อยแล้ว” นายวิศาล กล่าวพร้อมระบุว่า จากการตรวจสอบยังพบว่ามีการทำผิดระเบียบข้อบังคับการบริหารหน่วยงานและสถาบันของสภาคริสตจักรในประเทศไทยและมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ค.ศ. 2009 ข้อ 132.2 ในหัวข้อย่อยข้อ 132.2.2 และข้อ 139.2 ซึ่งเป็นระเบียบขั้นตอนในการเบิกจ่ายเงิน

ระเบียบข้อบังคับ 132.2 ระบุว่า ว่า ผู้จัดการสถาบันหรือประธานคณะกรรมการบริหารภายในร่วมกับผู้มีอำนาจการสั่งจ่ายเงิน ดังต่อไปนี้

132.2.2 สถาบันขนาดใหญ่ มีอำนาจการสั่งจ่ายเงินครั้งละไม่เกิน 400,000 บาท ระเบียบข้อบังคับ 139.2 ระบุว่า คณะกรรมการบริหารสถาบัน คณะกรรมการอำนวยการสถาบันขนาดใหญ่มีอำนาจอนุมัติให้หน่วยงานและสถาบัน สั่งจ่ายเงินครั้งละไม่เกิน 3,000,000 บาท (สามล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม มีการพบเอกสารการเบิกจ่ายเงิน ภายหลังจากการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำผิดไปแล้วว่า โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้มีการสั่งจ่ายเช็คออกไป โดยเช็คใบที่ 1 (เงินมัดจำ) มูลค่า 10 ล้านบาท ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2561 เช็คใบที่ 2 มูลค่า 35 ล้านบาท ลงวันที่ 9 มกราคม 2562 เช็คใบที่ 3 มูลค่า 25 ล้านบาท ลงวันที่ 15 มกราคม 2562 และเช็คค่าโอน มูลค่าโดยประมาณ 7 แสนบาท ลงวันที่ 25 มกราคม 2562 รวมมูลค่าเช็คสั่งจ่ายทั้งหมดรวมประมาณ 70,700,000 บาท

เป็นที่ทราบดีว่า มูลนิธิฯ ไม่ได้มีการอนุมัติจ่ายเช็คทั้ง 4 งวดดังกล่าวแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่โดยหลักการแล้ว วงเงินมากที่สุดที่โรงเรียนฯ สามารถสั่งจ่ายได้นั้นต้องไม่เกิน 3 ล้านบาท ถ้ามากกว่านั้นโรงเรียนฯ ต้องทำหนังสือขออนุมัติจ่ายเงินจากมูลนิธิฯ ก่อนจึงจะดำเนินการเบิกจ่ายได้ แต่ในกรณีนี้ เช็คที่จ่าย 3 ใน 4 ใบมีมูลค่ารวมหลายสิบล้านบาท ที่สำคัญ ยังพบว่ามีความไม่ปกติของการลงนามสั่งจ่ายเช็คทั้งในส่วนของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คและชื่อผู้รับเงิน

ที่ผ่านมา ผู้กระทำผิดได้ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจริง และ ลงนามยอมรับด้วยตนเองตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2562 แล้ว “โดยส่วนตัว ผมมองว่า เป็นการกระทำเยี่ยงสุภาพบุรุษ BCC ผมชื่นชมในความกล้าหาญ และความเป็นผู้นำ ที่รับผิดได้ ไม่ได้รับแต่ชอบ แต่ด้วยเหตุผลใดมิอาจทราบได้ บุคคลนั้นเกิดเปลี่ยนใจขอให้มีการตั้งกรรมการสอบแทน จึงมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเป็นการภายในตามที่ร้องขอ และเริ่มการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2562 จนนำมาสู่ข้อสรุปและมีมติลงโทษตามความผิดนั้น” นายวิศาล กล่าว