posttoday

"หมอธีระวัฒน์"ชม "คลินิกกัญชา" มาถูกทาง!

09 มกราคม 2563

"ศ.นพ.ธีระวัฒน์" ชี้คลินิกกัญชา "มาถูกทาง" หลังเห็นแพทย์แผนไทย ผนึกแพทย์แผนปัจจุบัน รักษาคนไข้

"ศ.นพ.ธีระวัฒน์" ชี้คลินิกกัญชา "มาถูกทาง" หลังเห็นแพทย์แผนไทย ผนึกแพทย์แผนปัจจุบัน รักษาคนไข้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรค แสดงความเห็นถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดคลินิกกัญชาครบวงจร ที่อาคารพิพิธภัณฑ์การสาธารณสุขและการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข ว่า

การเปิดคลินิกกัญชาขึ้นมาที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเซ็นเตอร์ก็เพื่อจะบอกว่าทางส่วนกลางสนับสนุนเรื่องนี้ และเข้ามาทำงานด้วยอย่างเต็มตัว เมื่อที่นี่รักษาได้ จ่ายยาได้ ที่อื่นก็ต้องทำได้ สำหรับสารสกัดกัญชาที่ใช้ภายในงาน มีสูตรของ อ.เดชา ศิริภัทร และสูตรขององค์การสัชฯ เป็นสารสกัดที่ได้มาตรฐาน ไม่มีผลกระทบกับผู้ใช้อยู่แล้ว

คลินิกดังกล่าว เป็นการใช้ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทย ในการให้บริการประชาชน เป็นการสร้างการยอมรับในศาสตร์แขนงนี้ร่วมกัน ขณะเดียวกัน โดยเฉพาะกับแพทย์แผนปัจจุบัน ที่มีบางส่วนยังมองว่ากัญชาเป็นยาเสพติด จนลืมมองข้อดีไปหมดสิ้น

การให้แพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันทำงานร่วมกัน จะเกิดการยอมรับกันและกัน รวมไปถึงยอมรับศาสตร์ความรู้ของกันและกันด้วย คิดว่าจากนี้แพทย์แผนปัจจุบันจะทัศนคติต่อกัญชาที่เป็นบวก และกล้าจ่ายยามากขึ้น นับว่าเดินมาถูกทางแล้ว

คลินิกข้างต้นกำลังสร้างแพทย์ พยาบาล ที่เป็นพี่เลี้ยงในเรื่องของการใช้กัญชารักษาโรค และพี่เลี้ยงเหล่านี้ สมควรจะต้องถูกส่งลงไปช่วยงานตามคลินิกกัญชาที่เปิดอยู่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องแก่ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนผู้มารับบริการ รูปแบบการให้บริการที่เกิดขึ้น จะเป็นโมเดลให้คลินิกกัญชาในพื้นที่อื่นต้องปฏิบัติตาม

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า การที่ภาครัฐมาให้ความสนใจกับกัญชาในทางการแพทย์ เพราะอย่างที่ทราบว่าในแต่ละปีประเทศไทยต้องใช้งบ สธ.ในโครงการหลักประกันสุขภาพฯที่สูงมาก เพราะต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศ แต่ถ้าเราสามารถนำกัญชามาใช้รักษาโรคได้ ย่อมจะช่วยประหยัดงบประมาณ เรื่องกัญชารักษาโรคนั้น ไม่ได้เป็นเพียงการคิดขึ้นมาเอง แต่มีข้อมูล มีหลักฐานการวิจัยแล้วว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์จริงๆ

“คนไทยตื่นตัวเรื่องการรักษาโดยใช้กัญชา มันมาจากความไม่เชื่อมั่นในการรักษาแนวทางปัจจุบันที่มีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพ จึงหาทางเลือกใหม่ๆ ทั้งนี้ การตื่นตัวของประชาชน และการผลักดันของนโยบายจากภาครัฐย่อมสร้างผลกระทบให้กลุ่มทุนบางกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการผลิตยาแผนปัจจุบัน ไปจนถึงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์บางคนที่ยังเชื่อมั่นในแพทย์แผนปัจจุบันจนไม่ยอมเปิดใจรับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดที่หมอจำนวนหนึ่งจะมีอคติกับกัญชาอยู่บ้าง เพราะหมอแผนปัจจุบันกลุ่มนั้น อาจจะอยู่กับความเชื่อนี้มาหลายทศวรรษ”