posttoday

รมว.ยธ.เชียร์ฉีดอัณฑะ-ตัดอวัยวะเพศนักโทษคดีฆ่าข่มขืน เชื่อสังคมเอาด้วย

27 ธันวาคม 2562

"สมศักดิ์" เผย เชียร์ฉีดอัณฑะ-ตัดอวัยวะเพศนักโทษคดีฆ่าข่มขืน เชื่อสังคมเอาด้วย ชี้อาจขัดหลักสิทธิมนุษยชน แต่หากคนส่วนใหญ่เห็นพ้องแก้ไข กม.ไม่ยาก ขอให้สส.เสนอมายังยธ.

"สมศักดิ์" เผย เชียร์ฉีดอัณฑะ-ตัดอวัยวะเพศนักโทษคดีฆ่าข่มขืน เชื่อสังคมเอาด้วย ชี้อาจขัดหลักสิทธิมนุษยชน แต่หากคนส่วนใหญ่เห็นพ้องแก้ไข กม.ไม่ยาก  ขอให้สส.เสนอมายังยธ. หารือกรมสุขภาพจิตส่งกลุ่มผู้ต้องหาคดีความผิดทางเพศที่มีพฤติกรรมเสี่ยงก่อเหตุซ้ำประเมินสุขภาพจิต

เมื่อวันที่  27 ธ.ค.  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นักโทษเรือน จำจ.สงขลาแหกคุกเมื่อบ่ายวานนี้ ว่า ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวได้แล้ว ซึ่งตนไม่ได้ตกใจ แต่จะให้ความสนใจกับนักโทษที่เจ็บป่วยและตายในคุกมากกว่า รวมทั้งนักโทษใหม่ที่เข้าไปในคุกแล้วไม่ทราบเรื่องกฎระเบียบของเรือนจำ ปัจจุบันนักโทษในเรือนจำทั่วประเทศมีจำนวน 3.7 แสนคน สำหรับผู้ที่หลบหนีหรือแหกคุกพบว่ามีจำนวนเล็กน้อย สำหรับการเอาผิดผู้พ้นโทษแล้วกลับมาก่อเหตุซ้ำ อย่างกรณี นายสมคิด พุ่มพวง ซึ่งเป็นฆาตกรต่อเนื่องนั้น ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมได้ตั้งคณะทำงานกลั่นกรองและพิจารณาบุคคลที่เป็นภยันตรายต่อสังคม  โดยเบื้องต้นทางกรมราชทัณฑ์ได้เสนอว่าจะต้องมีมาตรการระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ในการควบคุมและดูแลผู้พ้นโทษ โดยเฉพาะกลุ่มนักโทษคดีฆ่า ข่มขืนหรือกระทำความผิดทางเพศ ต้องชะลอการปล่อยตัวออกไป

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลนักโทษแบ่งออกเป็น 9 ประเภทตั้งแต่โทษน้อยสุดไปจนถึงมากสุด นักโทษในคดีร้ายแรงทั่วประเทศมีจำนวน 2.3 หมื่นคน คดีพยายามฆ่าและมีอาการทางจิตประมาณ 3,000 คน  ซึ่งจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับโทษตลอดชีวิตและเหลือโทษจำคุกอีกโทษ 2-3ปี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักโทษในคดีฆ่าข่มขืนประมาณ 100 คน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าจะต้องมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมนักโทษกลุ่มนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในกรณีที่นักโทษพ้นโทษออกไปอาจจะต้องมีมาตรการที่สามารถนำพวกเขามาจองจำต่อ  หรือกักขังต่อตามพ.ร.บ.กฎหมายอาญา มาตรา 39  และพ.ร.บ.ของกรมสุขภาพจิต ในกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นคนอันตราย มีความเสี่ยงในการกระทำความผิดซ้ำ โดยจะต้องเข้ารับการตรวจในขั้นตอนทางการแพทย์

“คนกลุ่มนี้จะต้องมีการกำหนดให้อยู่ในพื้นที่ควบคุม ในช่วง 3-10 ปี โดยขอให้อัยการและศาลมีคำสั่งในเรื่อง เพื่อป้องกันไม้ให้กัลับไปกระทำความผิดซ้ำ ขณะเดียวกันระยะยาวจะต้องมีการออกกฎหมาย โดยให้กรมราชทัณฑ์กำกับดูแลเพิ่มโทษ ให้ซึ่งต่างจากนักโทษปกติทั่วไป คาดว่าต้องใช้เวลาแต่ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้ทำบัญชีรายชื่อนักโทษออกมาแล้ว”นายสมศักดิ์ กล่าว

รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ส.ส.ได้เสนอให้มีการเอาผิดนักโทษคดีฆ่าข่มขืน หรือทำผิดทางเพศให้ตัดอวัยวะเพศ หรือทำการฉีดยาอัณฑะฝ่อว่า กรณีนี้เป็นเรื่องของส่วนรวม สังคมมีแนวคิดหลากหลายและเป็นเรื่องที่ดี ถ้าส.ส.ส่วนใหญ่เอาด้วยก็สามารถดำเนินการออกกฎหมายได้ จะเห็นได้ว่าในกฎหมายของสหรัฐอเมริกา แม้จะไม่ได้ใข้โทษประหารชีวิตมานานแต่กรณีการข่มขืนเด็กหญิงอายุ 7 ขวบ ทำให้ประธานาธิบดีอเมริกาสั่งประหารนักโทษในคดีนี้ แม้ว่ากลุ่มสิทธิมนุษยชนจะคัดค้านทั่วประเทศ แต่ส.ส.ของอเมริกาเอาด้วย จึงก็มีการสั่งประหารชีวิตและมีการออกกฎหมาย ที่ระบุว่าถ้าฆาตกรชั่วร้ายคนนั้นอยู่ที่ไหน สังคมควรรับรู้และจะทำให้ไม่มีคนตาย แต่ในประเทศไม่มีใครรู้ว่าคนร้ายเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ไทยก็ควรมีกฎหมายในลักษณะนี้ออกมา ถ้าส.ส.ต้องการออกกฎหมายเหล่านี้ก็สามารถเสนอได้ หรือจะมาร่วมกับกระทรวงยุติธรรมก็พร้อม เพราะคือความปลอดภัยของประชาชนไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวแต่อย่างใด ตนเชื่อว่าทุกคนเห็นด้วยแม้ว่าจะขัดหลักสิทธิมนุษยชนก็ตาม เพราะเป็นเรื่องของส่วนรวม ถ้าสังคมรับได้ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะออกกฎหมาย

"บางที่สิ่งที่ผมพูดไปก็อาจจะวิจารณ์ทั่วบ้านทั่วเมือง  สำหรับฆาตรกรคดีฆ่าข่มขืน อยู่ที่ใด ประชาชนจะต้องรับทราบเพื่อ ให้ระมัดระวัง ซึ่งการประกาศให้สังคมรับทราบถือเป็นมาตรการเบาที่สุด แต่ถ้ามาตรการหนักคือต้องโทษประหารชีวิตเท่านั้น  คำถาม คือ เราทำได้หรือไม่ และกฎหมายจะทำได้หรือไม่ นี่คือแนวคิดที่ใช้มาตรการจากหนักไปหาเบา"นายสมศักดิ์กล่าว