posttoday

สมศักดิ์เร่งปลดล็อคใบกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติด หลังถูกจดลิขสิทธิ์ยาแล้ว4ฉบับ

13 ธันวาคม 2562

ไม่มีมวยล้มต้มคนดู สมศักดิ์ตั้งคณะกก.เร่งปลดล็อคใบกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติดหลังพบนักวิจัยไทยจับมือญี่ปุ่น สหรัฐ จดลิขสิทธิ์ยากระท่อมแล้ว 4 ฉบับ

ไม่มีมวยล้มต้มคนดู สมศักดิ์ตั้งคณะกก.เร่งปลดล็อคใบกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติดหลังพบนักวิจัยไทยจับมือญี่ปุ่น สหรัฐ จดลิขสิทธิ์ยากระท่อมแล้ว 4 ฉบับ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมในการกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษแล้ว และเชื่อว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดดังกล่าวเพราะมีผลการวิจัยทางการแพทย์ว่าใบกระท่อมสามารถนำมาทำเป็นยารักษาโรคได้ มีประโยชน์ในการแก้ปวด แก้ไข้ แก้บิด ท้องเสีย ซึ่งก่อนหน้านี้มีนักวิจัยไทยศึกษาร่วมกับนักวิจัยญี่ปุ่นแล้วไปจดลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่น 2 ฉบับ อเมริกา 2 ฉบับ ดังนั้นจึงต้องรีบทำ โดยองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ไม่ได้กำหนดใบกระท่อมเป็นยาเสพติด และในหลายประเทศสามารถซื้อขายกันได้อย่างถูกกฎหมาย รวมทั้งมีการส่งออกด้วย

"ผมขอพูดด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่มีมวยล้มต้มคนดูอย่างแน่นอน อะไรที่ทำแล้วเกิดประโยชน์กับประชาชนและสามารถทำได้ ผมทำเลยทันทีไม่มีรีรอ ผมไม่นิยมหลอกหรือให้ความหวังกับประชาชน เรื่องที่ยากกว่านี้ อย่างการผลักดันให้สร้างสนามบินสุวรรณภูมิยังทำสำเร็จมาแล้วดังนั้นเรื่องนี้ผมทำเต็มที่และจะทำให้สำเร็จอย่างแน่นอน" นายสมศักดิ์ฯ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมในการกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ มีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล ศึกษาและวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมในรูปแบบต่างๆ ศึกษาเปรียบเทียบข้อกฎหมายภายในประเทศ กฎหมายต่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้ในการควบคุมพืชกระท่อม เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมพืชกระท่อมให้เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และพิจารณาให้ความเห็น ข้อเสนอแนะหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาการใช้พืชกระท่อม รวมทั้งผลดีผลเสีย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน หากยังคงพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ รวมทั้งดำเนินการอื่นๆตามที่ได้รับมอบหมาย

ทั้งนี้คณะกรรมกรรมการชุดดังกล่าว มีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์ สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วย เลขาฯป.ป.ส. , ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา , ผู้แทนกรมการปกครอง , ผู้แทนกรมการแพทย์ , ผู้แทนกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก , ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร , ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ , ผู้แทนกรมสุขภาพจิต , ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด , ผู้แทนสภาทนายความ , ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา , ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม , ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด , ผู้แทนองค์การเภสัชกรรม ,ฯลฯ