posttoday

รับมือภัยแล้งฝั่งตะวันออก ระดมทุกฝ่ายประหยัด เร่งตุนน้ำใช้ บริโภค-เกษตร-อุตสาหกรรม

12 ธันวาคม 2562

กรมชลประทาน จับมือกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน ขันน๊อตแผนบริหารน้ำหน้าแล้ง หลังน้ำใช้การได้ ลดลงกว่า 50% 

กรมชลประทาน จับมือกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน ขันน๊อตแผนบริหารน้ำหน้าแล้ง หลังน้ำใช้การได้ ลดลงกว่า 50% 

นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 9  (สชป.9) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ประปา เกษตรกรรมและประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก  8 จังหวัด ถึง แผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้ง ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำใน8 จังหวัด มีปริมาณ 1,474  ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือปริมาณ  53% ของความจุทั้งหมด มีน้ำใช้การได้ 1,344 ล้านลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำรวมปี 2562 น้อยกว่า ปี 2561 ประมาณ 569 ล้านลบ.ม. หรือ 47.70% 

ดังนั้นในการวางแผนบริหารการใช้น้ำ ต้องหารือกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิดเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยต้องจัดสรรน้ำเพื่อการบริโภค อุปโภค เพื่อรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก และในการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก จะใช้ฐานตัวเลขในสถานการณ์วิกฤติแล้งสุดในรอบ 30 ปีของภาคตะวันออก คือปี 2547/2548  มาเป็นเกณฑ์ ซึ่งมั่นใจว่าจากความร่วมมือครั้งนี้จะไม่เกิดปัญหาแย่งน้ำซ้ำรอยแน่นอน อย่างไรก็ตามหากท้ายที่สุดมีวิกฤติคาดไม่ถึงก็อาจต้องใช้น้ำก้นอ่าง แต่จากแผนคิดว่าจะไม่มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น

สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2562/63  พื้นที่ภาคตะวันออก 8 จังหวัด  แบ่งเป็นเพื่ออุปโภคบริโภค 146 ล้านลบ.ม.  เพื่อการเกษตร 772 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศ  271 ล้านลบ.ม. ด้านอุตสาหกรรม  173ล้านลบ.ม.   ปัจจุบัน(ณวันที่ 12 ธ.ค. 62)  จัดสรรแล้ว 328 ล้านลบ.ม. หรือน้ำตามแผนอีก1,200 ล้านลบ.ม. 

"ความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรม ประมาณ 257 ล้านลบ.ม. ดังนั้นน้ำที่จัดให้ไม่พอขาดไป 100 ล้านลบ.ม.   ซึ่งจะไม่แตะต้องน้ำที่จัดสรรเพื่อการเกษตรและในกิจการที่วางไว้  กรมชลฯจึงได้ร่วมกับภาคเอกชนว่าจะหาน้ำทดแทนที่ขาดไปจากไหน  โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนลดการใช้น้ำลง10%  และในส่วนของบริษัท อีสวอเตอร์ให้จัดหาแหล่งน้ำดิบเพิ่ม  ณ วันนี้สามารถหาได้ประมาณ 20  ล้านลบ.ม.จากระยอง  12 ล้านลบ.ม.และ จากฉะเชิงเทรา 8 ล้านลบ.ม. และช่วยกันลดความสูญเสียอีกประมาณ 5 ล้านลบ.ม. คาดว่าจะได้น้ำส่วนที่ขาดไปคืนกลับมาประมาณ   70 ล้านลบ.ม. อีกทั้งระหว่างนี้จะมีน้ำเข้าเขื่อน ประมาณ 20 ล้านลบ.ม. จึงคาดว่า ณ เดือน มิ.ย. 63 จะมีน้ำสำหรับการใช้การฤดูต่อไปประมาณ 447 ล้านลบ.ม.ในช่วงฝนทิ้งช่วง" นายสุชาติกล่าว

นอกจากนั้นยังได้เร่งโครงการเชื่อมโครงข่ายน้ำเพื่อเติมในอ่างที่ขาดแคลน เช่นการผันน้ำจากอ่างคลองหลวงมาเติมน้ำช่วยชลบุรีมากกว่า10 ล้านลบ.ม.  การสูบผันน้ำจากอ่างดอกกราย  หนองปลาไหลและหนองใหญ่ ถึง มิ.ย. 63รวม 55.8ล้านลบ.ม.    และให้มีการวางระบบติดตามการใช้น้ำของทุกภาคส่วนไม่ให้เกินแผน โดยให้ติดตามตัวเลขการใช้น้ำเป็นรายวันเพื่อตรวจว่าใครที่ใช้ไม่ตามแผน    

น.ส.รัตนา  เพ็ชรสูงเนิน  เลขานุการกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานตำบลวังหน้า ตัวแทนเกษตรกรอ่างเก็บน้ำประแสร์  กล่าวว่า จากข้อตกลงของกลุ่มผู้ใช้น้ำ ได้จัดสรรให้ทางกลุ่มนี้ประมาณ  20 ล้านลบ.ม. จะได้ใช้เดือนม.ค.63  ขณะนี้เกษตรกร ต้องวางแผนเตรียมสูบน้ำ เพราะขณะนี้เริ่มแห้ง ป้องกันไม่ให้มีผลกระทบต่อสวนทุเรียน อย่างไรก็ตามพอใจกับการประชุมและการจัดสรรน้ำที่ได้ แต่ขอให้เร่งในเรื่องเงินค่าไฟฟ้า เนื่องจากควรจะมีการสูบน้ำเข้าสวนก่อนสิ้นเดือนธ.ค. นี้ เพราะน้ำในคลองธรรมชาติลดลงมาก

นายบุญยืน  เลาหวิทยะรัตน์  เลขาธิการหอการค้าจังหวัดระยอง    กล่าวว่า เมื่อสชป. 9  มั่นใจว่ามีน้ำเพียงพอ ก็พอใจ เพราะเดิมบอกว่าจะมีน้ำเพียงพอถึงเดือนมิ.ย.  2563 ต่อมามีข่าวว่าใช้ได้ถึงเดือนเม.ย.2563    ซึ่งจากที่เคยมีประสบการณ์เมื่อปี 47/48 ทราบดีว่าถ้าไม่รักษากติกาจะมีปัญหา ดังนั้นภาคเอกชนพร้อมที่จะร่วมมือ  ขณะเดียวกันเรียกร้องให้รัฐบาลที่สนับสนุนอีอีซี  ควรเร่งพิจารณาโครงการที่จะเก็บน้ำเพิ่มด้วยโดยเฉพาะช่วยเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างกรมชลฯกับกรมป่าไม้ ขอใช้พื้นที่โครงการคลองวังโตนด เพื่อที่จะได้เดินหน้าโครงการในพื้นที่จันทบุรีสามารถช่วยโครงการอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้