posttoday

3ระยะที่ผู้ปกครองต้องตระหนัก เมื่อลูกเล่น "เกมส์"

08 ธันวาคม 2562

จิตแพทย์ รพ.สวนสราญรมย์สุราษฎร์ แนะวิธีรับมือ 3 ระยะเมื่อเด็กเล่นเกมส์ ชี้ผู้ปกครองต้องดูแลใกล้ชิดมีกติการ่วมกัน เตือนไม่ควรเข้าไปขัดขวางการเล่นด้วยความรุนแรงทันที

จิตแพทย์ รพ.สวนสราญรมย์สุราษฎร์ แนะวิธีรับมือ 3 ระยะเมื่อเด็กเล่นเกมส์ ชี้ผู้ปกครองต้องดูแลใกล้ชิดมีกติการ่วมกัน เตือนไม่ควรเข้าไปขัดขวางการเล่นด้วยความรุนแรงทันที

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพทย์หญิงณัฐพร ใจสมุทร สกุลแพทย์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาเครือข่าย โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความในเพจสาธารณะ เฟซบุ๊กสุราษฎร์ธานี กรณีเกิดเหตุสลดใจลูกชายอายุ 17 ปี เล่นเกมส์ถึงตี 3 ถูกบิดา ที่เป็นตำรวจสังกัด สภ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวตักเตือนและใช้มีดแทงบิดาเสียชีวิต เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.62 โดยระบุหัวข้อว่า "เด็กติดเกมส์_ความสนุกที่แสนเปราะบาง" โดยมีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

หมอเพิ่งได้ทราบข่าวสลดข่าวหนึ่งจากผู้สื่อข่าวเดลินิวส์สุราษฎร์ธานีและได้รับโจทย์มาว่า "ผู้ปกครองควรทำอย่างไรเมื่อลูกติดเกมส์" หมอขอเรียนว่า การติดเกมส์ เปรียบเสมือนปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่เหนือผิวน้ำแล้ว การติดเกมส์ คือการใช้เวลาอยู่กับการเล่นเกมส์จนทำให้สูญเสียทั้งโอกาสและหน้าที่ที่ควรทำได้ตามวัย เช่นติดจนไปเรียนไม่ได้ ติดจนไม่มีสมาธิทำงานสร้างรายได้ ติดจนเสียความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ฯลฯ

“ ...อ๊ะ!! แต่อย่าเผลอไผลตัดสินว่า ใครติดเกมส์เพียงเพราะ "เรา" ไม่ชอบให้เค้าเล่นเกมส์นะคะ...มันคนละประเด็นกัน การติดเกมส์ทำอะไรกับสมองเรา ??

เอางี้นะคะ เราเล่นเกมส์ --> สนุกเพราะแพ้บ้างชนะบ้าง--> พอชนะ--> อยากชนะอีก-->พอแพ้-->อยากลองชนะอีกครั้ง (เพราะชนะแล้วมันภูมิใจ)--> ก็เล่นต่อไปอีกเรื่อยๆๆ...จนสุดท้ายคือใช้เวลาอยู่กับเกมส์นาน นานจนสมองส่วนวงจรรางวัล (Reward system)โหยหาความสุขที่เกิดตอนที่เล่นชนะ ก็จะอยากเล่นเกมส์เพื่อให้ได้ความสุขในแบบที่ได้รู้สึกตอนชนะเกมส์อีก ..นั่นคือวงจรเดียวกับที่ยาเสพติดทำกับสมองเลยค่ะ

ทีนี้...ผู้ปกครองควรทำอย่างไร ?? หมอขอแบ่งเป็น 3 ระยะนะคะ

1.ระยะยังไม่เข้าสู่การเล่น...คือกลุ่มที่เพิ่งมีอุปกรณ์แต่ยังไม่เคยลองเล่น บุคคลสำคัญคือ พ่อแม่เลยค่ะ...พ่อแม่ลองถามตัวเองนะคะ...ว่า smartphone ที่พ่อแม่ซื้อให้นั้น...ตกลงมันเป็นของใคร ?? ใช่ค่ะ...มันยังเป็นของพ่อแม่ค่ะ...พ่อแม่แค่ให้ลูก "ยืมใช้" ค่ะ ดังนั้น พ่อแม่ต้องสื่อสารให้ลูกเข้าใจสถานะและกำหนดกติกาการใช้ร่วมกันค่ะ กติกาการใช้เรากำหนด ลูกต่อรอง แล้วได้ข้อสรุปร่วมกัน ถ้าไม่ทำตามกติกา...ก็ต้องรับผิดชอบ เช่น หักเวลาที่เล่นเกินไปจากวันพรุ่งนี้ หรืองดการใช้ไปเลยกี่วัน ก็แล้วแต่กติกาที่ตกลงกัน

2.ระยะเล่นแล้ว...แต่ยังไม่มีผลกระทบ กลุ่มนี้...พ่อแม่ต้องรีบให้แรงเสริมทางบวก คือการ "จับถูก" ที่เค้ารักษากติกา เค้าเล่นเกมส์แต่รักษากติกาไว้ได้ ทำให้ไม่กระทบต่อหน้าที่ ถ้าไม่รู้ว่าจะ "จับถูก" อย่างไร ให้ลองนึกถึง ตอนที่ลูกเดินได้ก้าวแรกสิคะ...ตอนนั้นพ่อแม่รู้สึกอย่างไร พอลูกโตขึ้น...เราแก่ลง เรากลายเป็นเครื่องสแกนการจับผิดตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ...เอาใหม่ค่ะ...เอาใหม่ ลองมองหาข้อดีของลูกแม้เค้าจะเล่นเกมส์ดูค่ะ...ถ้ามองดีๆเชื่อว่าพ่อแม่จะมองเห็นค่ะ

3.ระยะติดเกมส์ ...นั่นคือมีผลกระทบแล้ว ต้องนำเข้าสู่การประเมินค่ะ เพราะการติดเกมส์นั้น มีสาเหตุที่ซ่อนอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาวะซึมเศร้า ภาวะปัญหาการปรับตัว ครอบครัวที่ไม่สามารถบอกความต้องการได้ หรือไม่ได้รับการตอบสนองทางจิตใจที่เหมาะสม ฯลฯ

สิ่งที่ไม่ควรทำคือ "ไม่ควรเข้าไปขัดขวางการเล่นด้วยความรุนแรงทันที" ถ้าท่านคิดว่า ท่านคุมสถานการณ์ไม่ได้

ด้วยความห่วงใยในปัญหาการติดเกมส์ของเยาวชน

หมอณัฐพร...จิตแพทย์

ปล 1.วิธีการที่หมอแนะนำนี้...หมอเองก็ใช้ในชีวิตจริงกับลูกค่ะ ช่วยกันนะคะ #คนรักษากำลังจะหมดแรง

ปล 2. ความเปราะบางของเยาวชน..คือ #ความเปราะบางของชาติ

ปล 3. "คนเล่นเกมส์" ไม่ใช่คนเลวนะคะ...แต่การติดเกมส์ นำมาสู่ปัญหามากมายค่ะ...โปรดอย่าดราม่าใส่คนเล่นเกมส์ค่ะ