posttoday

"ชวน"แนะปราบโกง ผู้ปฎิบัติหน้าที่อย่านำความเกรงใจไปใช้ในทางที่ผิด

07 ธันวาคม 2562

ประธานรัฐสภา"ชวน หลีกภัย"แนะปราบทุจริตวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล อย่าเกรงใจที่จะปฎิบัติตามหลักธรรมาภิบาล จนละเลยหน้าที่จะทำชาติเสียหาย

ประธานรัฐสภา"ชวน หลีกภัย"แนะปราบทุจริตวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล อย่าเกรงใจที่จะปฎิบัติตามหลักธรรมาภิบาล จนละเลยหน้าที่จะทำชาติเสียหาย

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานพิธีมอบรางวัล“ANTI-CORRUPTION AWARDS 2019” ส่งเสริมการต้านคอร์รัปชั่น ประจำปี 2562 แบ่งเป็น 3 สาขา บุคคล องค์กร และสื่อมวลชน ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ที่ได้รับรางวัล สาขาบุคคล ได้แก่ นางสาวปณิดา หรือน้องแบม ยศปัญญา นักวิชาการยุติธรรมปฏิบัติการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) เขต 4 จ.ขอนแก่น ,นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

สาขาองค์กร ได้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) สาขาสื่อมวลชน ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 7 รายการ “คอลัมน์หมายเลข 7” นายสมโภชน์ โตรักษา

ส่วนรางวัลบุคคลเกียรติยศแห่งปี ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต

นายชวน กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “มหันตภัย... คอร์รัปชั่น ยุค 4.0” ความตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาเราละเลยต่อค่านิยมในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น การที่สมาคมฯ ให้ความสนใจอย่างจริงจังในเรื่องนี้ ถือว่าเรายังมีสื่อมวลชนที่ให้ความสำคัญกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น จึงขอแสดงความยินดีกับคณะกรรมการฯ ที่ได้คัดเลือกบุคคล หรือองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นแบบอย่าง เป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือ มารับรางวัล Anti-Corruption Awards 2019 เพราะเพียงไม่กี่คนที่เอาจริงเอาจัง ย่อมมีผลทำให้ป้องกัน กีดกันคนที่ประพฤติมิชอบหรือไม่อยู่ในทำนองครองธรรมได้

สำหรับการจัดงาน Anti-Corruption Awards 2019 ในครั้งนี้ นับเป็นนิมิตรหมายอันดี เนื่องในวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล เป็นวาระสำคัญของชาติ ที่เราต้องร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง ปลูกฝังจิตสำนึก กำหนดกฎหมาย หลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาล 6 ประการ คือ 1.หลักคุณธรรม 2.หลักนิติธรรม 3.หลักความโปร่งใส 4.หลักความมีส่วนร่วม 5.หลักความรับผิดชอบ และ 6.หลักความคุ้มค่า

“ถึงแม้จะยึดตามหลักการนี้แล้ว แต่ปัญหาคอร์รัปชั่น ยังมีอยู่ เพราะไม่ได้มีการปฏิบัติจริง อีกทั้งผู้ปฏิบัติจำใจต้องปฏิบัติที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล เพราะความเกรงใจ แม้ความเกรงใจถือเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่งดงาม แต่เมื่อนำมาใช้ผิด ก็นำมาซึ่งความละเลย หรือละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นอย่าได้เกรงใจที่จะต้องปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล กล่าวคือ หากข้าราชการ หรือบุคคลกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเกรงใจต่อหัวหน้า ต่อผู้มีอำนาจแล้ว ก็จะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเอง และประเทศชาติได้” นายชวน กล่าว