posttoday

"ไม่ว่าลูกเพศอะไรนั่นก็คือลูกเรา" ครอบครัวกับการก้าวข้ามความหลากหลายทางเพศ"

05 ธันวาคม 2562

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของหลายครอบครัว กับการยอมรับและทลายความเกลียดชังต่อบุตรหลานที่มีความหลากหลายทางเพศ

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของหลายครอบครัว กับการยอมรับและทลายความเกลียดชังต่อบุตรหลานที่มีความหลากหลายทางเพศ

*********************************

เรื่อง : สุดารัตน์ ปิ่นแก้ว , ฐิติพร บุญตั้ง

“ลูกฉันเป็นคนดีของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม นี่คือลูกเรา เราต้องเข้าใจในสิ่งที่ลูกเป็น”

จากคำพูดข้างต้นคือความในใจของ รณิศร ปิยะปภากรกูล คุณแม่ เต็งหนึ่ง-คณิศ อดีตศิลปินวงบอยแบนด์ชื่อดัง ที่เข้าใจในสิ่งลูกเป็นแม้บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องแปลก ได้กล่าวในงานเสวนา “ครอบครัวจุดเริ่มต้นของพลัง การยอมรับและทลายความเกลียดชัง ต่อคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ” ที่จัดโดย สสส. เมื่อ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคนจากหลากหลายครอบครัว ต่อบุตรหลานที่มีความหลากหลายทางเพศ

แม้โลกปัจจุบันมีการพัฒนาและเปิดกว้างมากขึ้น แต่ทว่าบางครอบครัวยังมองการที่บุตรหลานมีความหลากหลายทางเพศเป็น “คนแปลก”

เต็งหนึ่ง อดีตศิลปินบอยแบนด์อายุ 38 ที่กล้าออกมาประกาศกับสังคมว่า ตัวเองเป็นเกย์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่กล้าเปิดเผยความรู้สึกว่า ตัวเองเมื่อทราบจิตใจตัวเองก็รวบรวมความกล้าและเริ่มจากการคุยกับคุณแม่ตอนอายุ 25 ปี ซึ่งหลังจากวันนั้นครอบครัวเข้าใจและรับได้ในสิ่งที่เขาเป็น

แต่ทว่าเส้นทางชีวิตก็ไม่ได้ราบรื่นเนื่องจากเป็นคนสาธารณะ อดีตศิลปินชื่อดัง เล่าถึงสิ่งที่เขาและครอบครัวมักมองเป็นเรื่องตลก “เล่นละครมาตั้งหลายเรื่องคำถามที่เจอมาตลอดเลยว่า เด็กคนนี้มันเป็นเกย์ปะว่ะ พระเอกมันหน้าสวยกว่านางเอกอีก” คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เค้ารู้สึกว่าทำไมไม่ดูผลงานจากการแสดงบ้าง

ด้าน คุณแม่รณิศร เล่าถึงความรู้สึกหลังจากที่ลูกกล้าเดินเข้ามาเปิดใจเมื่อตอนอายุ 25 ปี ว่า หลังจากนั้นพยายามเชียร์ลูกตลอดให้บอกกับสังคม “บอกเขาสักทีว่าเราเป็นอะไร ซึ่งคนรอบข้างจะถามบ่อยมากว่าลูกเราเป็นอะไร ลูกเราเป็นยังไง”

“พอเราตอบไปแล้วพวกเขาก็โอเค เกย์ก็คือผู้ชาย เขาก็คือผู้ชายปกติ เราอย่าคิดว่าลูกเราผิดหรืออย่าคิดว่าเราผิด เพราะว่าลูกเราก็มีความคิดเป็นของตัวเองและก็คิดได้ เขาจะชอบทางไหนมันอยู่ในสมองของเขาอยู่แล้ว เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนความคิดเขาได้”

คุณแม่ของคุณเต็ง ยังกล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันตนมักเป็นที่ปรึกษาให้คุณแม่หลายท่านที่บุตรหลานมีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งก็รู้สึกยินดีที่หลายคนเข้ามาปรึกษาและพร้อมสนับสนุนลูกพวกเขาอยู่เสมอ

"ไม่ว่าลูกเพศอะไรนั่นก็คือลูกเรา" ครอบครัวกับการก้าวข้ามความหลากหลายทางเพศ"

ขณะที่ อารี ระมิงค์วงศ์ ซึ่งเป็นคุณพ่อของน้องโมจิ ชายข้ามเพศ เล่าถึงการเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่ลูกของเขาเป็นว่า ตนเองดีใจที่มีน้องโมจิซึ่งเป็นลูกชายคนแรกและคนเดียว ครอบครัวถ้าเห็นลูกชอบทำกิจกรรมอะไรจะคอยส่งเสริมเสมอๆ

คุณพ่ออารี เล่าถึงวันที่รู้ว่าลูกชายไม่ได้มีจิตใจเป็นชายแท้ว่า วันหนึ่งไปปรึกษาคุณครูแต่สิ่งที่ได้ยิน “คุณพ่อไม่รู้เรื่องเหรอว่าลูกเป็นแบบนี้” ซึ่งจากประโยคดังกล่าวทำให้อึ้งและเมื่อกลับมาบ้านมีคำถามวนเวียนครุ่นคิดในหัวว่า “ลูกเราเกิดมาเป็นผู้ชาย แต่อยากข้ามเพศไปเป็นผู้หญิง”

ทว่าความคิดเหล่านั้นก็เลือนหายไปเมื่อคิดกลับกันว่า “ไม่ว่าลูกเราจะเพศอะไร หรืออยากข้ามเพศไปเป็นเพศอะไร นั่นก็คือลูกเรา เรารับได้หมด”

คุณพ่ออารี บอกว่า ปัจจุบันลูกเขาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแบบคนทั่วไป และมักคอยแนะนำให้ตนเองเรียนหลักสูตรความหลากหลายทางเพศ เพื่อหวังว่าจะเป็นตัวช่วยให้พ่อเข้าใจน้องมากขึ้น

เช่นเดียวกับ มณฑา สาช่อฟ้า คุณแม่ของลูกชายข้ามเพศที่มีความบกพร่องทางด้านการได้ยิน เล่าว่า เดิมครอบครัวอยากมีลูกชายมากเพราะมีลูกสาวแล้ว1 คน แต่ยังไม่มีลูกชาย จึงยอมตั้งท้องห่างจากลูกคนแรกถึง10ปี สุดท้ายได้ลูกชายสมใจ

แต่พอลูกชายอายุ 2-3 ขวบ พ่อซื้อรถบังคับให้กลับไม่สนใจ แต่หันไปสนใจตุ๊กตากระดาษและเล่นแบบนั้นจนเขาโต นอกจากนี้ยังชอบนำกระโปรงงพี่สาวมาใส่และแต่งหน้าทาลิปสติก

“วันหนึ่งตัดสินใจถามย้ำกับลูกตรงๆถึงสิ่งที่อยากเป็น ลูกเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง และได้คำตอบกลับมาว่า เป็นกะเทย”

มณฑา บอกว่า หลังจากที่รับรู้ถึงสิ่งที่ลูกอยากเป็นครอบครัวเข้าใจเพราะคิดว่า “อยากเป็นอะไรก็เป็น” ซึ่งหลังจากนั้นลูกก็เปิดตัวมากขึ้น และครอบครัวก็รับกับสิ่งพวกเขารักได้

"ไม่ว่าลูกเพศอะไรนั่นก็คือลูกเรา" ครอบครัวกับการก้าวข้ามความหลากหลายทางเพศ"