posttoday

"นักวิชาการทางทะเล" แนะ 3 วิธี "ท่านผู้นำ" แก้วิกฤตปมเปิบหูฉลาม

04 ธันวาคม 2562

ผศ.ดร.ธรณ์ เสนอแนะทางออกผู้นำรัฐบาล แก้ภาพลักษณ์หลังจัดเมนูโต๊ะจีนกินหูฉลาม-สั่ง ก.ทรัพย์เร่งทำโรดแมปอนุรักษ์ฉลาม

ผศ.ดร.ธรณ์ เสนอแนะทางออกผู้นำรัฐบาล แก้ภาพลักษณ์หลังจัดเมนูโต๊ะจีนกินหูฉลาม-สั่ง ก.ทรัพย์เร่งทำโรดแมปอนุรักษ์ฉลาม

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณีการรับประทานอาหารมื้อค่ำของพรรคร่วมรัฐบาล วานนี้ ที่มีการเสิร์ฟเมนูซุปหูฉลามตุ๋นหม้อดิน โดยมีเนื้อหาสรุปดังนี้

ผศ.ดร.ธรณ์ เชื่อว่า กรณีดังกล่าวเป็นความไม่รอบคอบของฝ่ายปฏิบัติที่จัดเมนูหูฉลามในงานของพรรคร่วมรัฐบาล ในยุคที่คนไทยกำลังเลิกกินสัตว์หายากเหล่านี้เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างมาก จนกลายเป็นการพาดหัวข่าวสร้างความเศร้าให้คนรักธรรมชาติ

ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล มองว่า หลายบนโต๊ะไม่กินซุปหูฉลาม ไม่ต้องการให้มีการเสิร์ฟเมนูหูฉลาม และบางคนอาจอึ้งเมื่อพบว่ามีเมนูนี้ ซึ่งเป็นภาวะที่อาจเกิดได้ เพราะบางครั้งตนก็ไปร่วมงานโดยไม่ทราบและรู้อีกทีมีหูฉลามมาเสิร์ฟแล้ว

ดังนั้นจึงเสนอแนะผู้บริหารระดับรัฐบาลต่อการดำเนินการถึงกรณีดังกล่าว ดังนี้

1.เงียบไปเลย เดี๋ยวข่าวก็ผ่านไป แต่แน่นอนว่าประเด็นหูฉลามไม่ใช่เรื่องที่ผ่านมาผ่านไป มันเป็นกระแสโลกมานานและนับวันมีแต่จะมากขึ้น และหากไม่ทำอะไรเลย อีกไม่นานมันก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกซ้ำไปซ้ำมา เพราะสำหรับเมืองไทยแล้วหูฉลามกับนักการเมืองแทบเป็นของคู่กัน เกิดทีไร ภาพลักษณ์ของฝ่ายที่กินหูฉลามก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

2.พลิกวิกฤต อดีตเคยมีข่าวคณะของนายกฯ เสิร์ฟอาหารในกล่องโฟมและพลาสติกใช้แล้วทิ้ง แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลง สั่งห้ามและยกเลิกการใช้ นั่นเป็นทางออกที่ดี เช่น นายกฯประกาศให้ชัดว่า ไม่ประสงค์จะไปร่วมงานใดๆ ที่เสิร์ฟหูฉลาม เพราะไม่กินหูฉลามและไม่อยากส่งเสริมให้เกิดการฆ่าสัตว์ชนิดนี้

และหากไปไกลยิ่งขึ้น อาจขอให้รมต.กระทรวงทรัพยากร เร่งหาทางอนุรักษ์ฉลาม ทำโรดแมปให้ชัดเจนเหมือนขยะทะเล ทำเช่นนี้จะเกิดประโยชน์มาก เพราะมีฉลามหลายชนิดที่จ่อคิวรอขอเป็นสัตว์คุ้มครอง เช่น ฉลามหัวค้อน รวมทั้งเร่งออกระเบียบต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่คุ้มครองทางสิ่งแวดล้อม (พรบ.สิ่งแวดล้อม กำหนดสัตว์ที่ห้ามจับได้)

3.เน้นย้ำกับฝ่ายปฏิบัติทั้งหมด โดยเฉพาะฝ่ายด้านภาพลักษณ์ว่าโลกยุคนี้ไม่เหมือนยุคก่อน คนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก และเมื่อเกิดเหตุแล้วโอกาสแก้ตัวมีน้อย เพราะมันไม่ใช่เรื่องแนวคิดทางการเมืองเศรษฐกิจที่ขัดแย้ง แต่เป็นสิ่งที่ใครๆสมควรทำ

ผศ.ดร.ธรณ์ ทิ้งทายว่า กิจกรรมใดๆที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น หูฉลาม ปลานกแก้ว ขยะพลาสติก ฯลฯ เป็นประเด็นเสี่ยงสูงมาก ที่ต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบทุกครั้งทุกกิจกรรม โดยไม่ต้องย้ำเตือน เพราะภาพลักษณ์ของผู้นำประเทศในยุคนี้ ยิ่งกรีนเท่าไหร่ย่อมยิ่งได้ความนิยม เช่น นายกนิวซีแลนด์ที่ได้คะแนนความชอบของคนไทยไปเพียบครับ