posttoday

‘กฎหมายสิ่งแวดล้อม’ หมัด 2 คว่ำขยะพลาสติก “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์”

04 ธันวาคม 2562

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย ฉายภาพก้าวที่ 2 สถานการณ์ลดขยะพลาสติก หลังรณรงค์จนลดอันดับเป็นที่ 10 จาก ลำดับที่ 7 ประเทศที่มีขยะทะเลสูงสุดในโลก

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย ฉายภาพก้าวที่ 2 สถานการณ์ลดขยะพลาสติก หลังรณรงค์จนลดอันดับเป็นที่ 10 จาก ลำดับที่ 7 ประเทศที่มีขยะทะเลสูงสุดในโลก

*****************************               

โดย…รัชพล ธนศุทธิสกุล   

จากกระแสลดใช้ขยะพลาสติกทั่วโลก ส่งให้ประเทศไทยตื่นตัวและรณรงค์ลดใช้ขยะพลาสติก โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน กระทั่งดาราคนดัง ออกมาขับเคลื่อนกระแสอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี จากทั้งกระแสเก็บขยะและมาตรการกระตุ้นใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การนำบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำซื้ออาหาร ทำให้อับดับประเทศที่มีขยะทะเลสูงสุดในโลกลงมาอยู่ที่อันดับ 10

แต่การจะก้าวให้ไกลและสำเร็จกว่านี้ โรดแมปต่อไปในการกำจัดขยะพลาสติกใน“ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย คือ ‘ออกกฎหมายจัดการสิ่งแวดล้อม’

‘กฎหมายสิ่งแวดล้อม’ หมัด 2 คว่ำขยะพลาสติก “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์”

  

ตั้งพระราชบัญญัติควบคุม

ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย บอกว่า สถานการณ์ขยะพลาสติกของประเทศไทย ณ ตอนนี้อยู่ในช่วงที่ 2 เปลี่ยนจากการ ‘รณรงค์’ มาสู่เรื่องของการใช้ ‘กฎกติกา’  

“เราผ่านยุคแรกของการทำมาแล้ว คือการรณรงค์เหมือนประเทศอื่นๆ ที่เขาทำ ตอนนี้สิ่งที่เราเริ่มอันแรกสุดคือ MOU กับแบรนด์ที่จะไม่แจกถุง แต่อันนี้เป็นบันทึกความเข้าใจและข้อตกลง ไม่ได้เป็นกฎระเบียบ ที่เราควรจะต้องทำก็คือ พ.ร.บ. จัดการขยะพลาสติก”

โดยการจัดตั้งกฎหมายจัดการสิ่งแวดล้อมจะมีลักษณะแบบเดียวกับที่สหภาพยุโรป (EU) ตั้งขึ้นเป็นมาตรฐานใช้รับมือกับปัญหามลภาวะขยะพลาสติก ที่จะช่วยทำให้เกิดการ ‘แบนพลาสติก’ ให้เหมาะสมกับสภาพบริบทประเทศไทย ซึ่งหากเริ่มที่ตอนนี้หลังจากการมีกฎกติกาออกมาควบคุมจะทำให้สามารถควบคุมขยะพลาสติกสิ้นเปลือง อย่าง ถุงก๊อบแก๊บ ขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งจำพวก หลอดและแก้ว ได้ในปี พ.ศ.2564 และ พ.ศ. 2565

ขณะที่ช็อตต่อไปของการแก้ไขคือ พลาสติกประเภท ‘บรรจุภัณฑ์’ ห่อ ซอง ที่แฝงตัวในธรรมชาติจำนวนมหาศาล ที่บ้านเราต้องตั้งเป้าระยะเวลาและปริมาณเพิ่มเปอร์เซ็นต์ขึ้นในแต่ละปี เริ่มที่ 10% ไป 20% หรือ 30% เช่นเดียวกับทางสหภาพยุโรปในเรื่องนี้ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2025 จะลดให้ได้ 25%

เน้นผสมพลาสติกรีไซเคิล

รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทำออกมาใหม่ต้องมีวัสดุรีไซเคิลผสมให้มากขึ้นในอนาคต ไม่ใช่มาจากพลาสติก 100 %  

“พลาสติกรีไซเคิล ของเรามีเข้าระบบน้อย แค่ 25-30 % แม้กระทั่งขวดเพ็ท (PET) ก็ต้องพยายามผลักดันให้เกิดพลาสติกรีไซเคิล ให้ขวดพวกนี้เราเข้าระบบรีไซเคิลได้มากที่สุดกว่านี้ 50-70 % ก็ว่ากันไป”

‘กฎหมายสิ่งแวดล้อม’ หมัด 2 คว่ำขยะพลาสติก “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์”

และเมื่อบวกกับกระบวนการ ‘เซอร์คูลาร์อีโคโนมี’ ผลิตสินค้าและบริการจากวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมา “หมุนเวียนใช้ใหม่” ซ้ำไปเรื่อยๆ ที่บ้านเรากำลังใช้ และ ‘ไบโออีโคโนมี’ บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100 % วิธีดังกล่าวจะช่วยแก้ไขขยะพลาสติกปลดล็อคปัญหากระทบสิ่งแวดล้อมไทยกว่า 20 ปี  

“นวัตกรรมของประเทศเนเธอร์แลนด์ สร้างกับดักดักขยะก็พบว่ามีผลกระทบกับสัตว์ทะเล ฉะนั้นมันก็เลยไม่มีอะไรที่มันจะไปกำจัดขยะหลังจากที่มันลงไปในธรรมชาติแล้วมันแสนสาหัส ก็เลยต้องมากลับเริ่มที่ต้นทางจัดการมันตั้งแต่ที่จะไม่ให้มันมี”

‘กฎหมายสิ่งแวดล้อม’ หมัด 2 คว่ำขยะพลาสติก “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์”

ทำไม่ได้=ถูกแบน

ปัญหาขยะพลาสติกไม่เพียงสัตว์ทะเลตาย สุขภาพคนไทยจากการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหารส่งผลสะท้อนกลับมา  

แต่หากเราทำไม่ได้ยังเสี่ยงต่อการที่จะถูกแบนสินค้า อาหาร ฯลฯ จากต่างประเทศ ซึ่งเราจะไม่มีทางโต้แย้งหรือทำอะไรได้ เนื่องจากกลายเป็น ‘ผู้ร้ายของโลก’

ดร.ธรณ์ ระบุว่าในเรื่องนี้แน่นอนว่าเริ่มต้นย่อมมีราคาที่สูงแต่เมื่อเทียบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นมันน้อยกว่าถึงครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งความเสียหายจากขยะใช้แล้วทิ้งเฉพาะในยุโรปหากไม่มีกฎระเบียบอีก 10 ปี ข้างหน้า ประเมินมาเป็นตัวเลขจะมีความเสียหายในสิ่งแวดล้อมสูงถึง 22,000 ล้านยูโร หรือเกือบล้านล้านบาท คิดเป็นตัวเลขการลงทุนดังกล่าวลดเม็ดเงินได้ถึง 10,000 ล้านยูโร รัฐบาลต่างๆ ก็ยอมลงทุน

‘กฎหมายสิ่งแวดล้อม’ หมัด 2 คว่ำขยะพลาสติก “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์”

“จะรอให้กฎทางเศรษฐศาสตร์ไปทำให้มันถูกลงมันก็ไม่ถูก เพราะว่าคนไม่ค่อยใช้มันก็กลับมาที่เดิม จึงต้องมีกฎหมายโรดแมปในเรื่องนี้ ไม่อย่างนั้นไม่ให้ขายในตลาด ผิดกฎหมาย ผู้ผลิตก็ต้องหาทางไม่รู้ทำยังไงก็ต้องหาทางยัดพลาสติกรีไซเคิล 25 % เข้าไปในอยู่ขวดให้ได้ มันก็กลับไปที่โรงงาน ตั้งแต่ต้นทาง การจัดการขยะพลาสติกมันเป็นระบบ กระบวนการ ตั้งแต่ผู้ผลิต คนกลาง ผู้บริโภค มาหมด

“66 ประเทศทำได้ 44ประเทศในทวีปยุโรปทำได้ 37 ทวีปแอฟริกาทำได้ ประเทศในอินโดแปซิฟิก 24 ประเทศทำได้ แล้วเราอยู่บนดาวอังคารเหรอ คือมันทำได้ ทำไม่ได้ ยังไงท้ายสุดมันก็ต้องทำ”