posttoday

ฟังเสียงเหยื่อผู้ถูกกระทำรุนแรง...เอาชนะก้าวข้ามผ่านพ้นปัญหา

29 พฤศจิกายน 2562

สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงฯ ชูแนวคิด “ก้าวพ้นใจ ก้าวข้ามไป ก้าวให้พ้นทุกข์”ปลุกพลังผู้ถูกกระทำรุนแรงเอาชนะก้าวผ่านพ้นปัญหา

สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงฯ ชูแนวคิด “ก้าวพ้นใจ ก้าวข้ามไป ก้าวให้พ้นทุกข์”ปลุกพลังผู้ถูกกระทำรุนแรงเอาชนะก้าวผ่านพ้นปัญหา

ที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ (วีเทรน) ดอนเมือง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ มูลนิธิพิทักษ์สตรี Alliance Anti Trafic จัดกิจกรรมเนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เด็กและความรุนแรงในครอบครัว ปี 2562 ภายใต้แนวคิด “เรา” : “ก้าวพ้นใจ ก้าวข้ามไป ก้าวให้พ้นทุกข์” ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการศิลปะเยียวยาจิตใจ ผู้ผ่านพ้นปัญหา และการแลกเปลี่ยนให้กำลังใจผู้ที่เคยประสบปัญหาความรุนแรง

นางณัฐิยา ทองศรีเกตุ ผอ.ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้กระทำล้วนเป็นผู้หญิง เด็ก และคนในครอบครัว นับวันจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ขั้นตอนของการแก้ปัญหามีความยากลำบาก และปัญหายังส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเจ้าของประสบการณ์ได้นำเสนอสถานการณ์ชีวิต และความรุนแรงที่ต้องเผชิญมา พร้อมทั้งเรียกร้องสิทธิของตนเอง นอกจากนี้ ยังต้องการให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่ให้บริการแก้ไขปัญหาและเครือข่ายผู้ผ่านพ้นความรุนแรง

นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง ผอ.กองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงตอนนี้เพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากสถิติศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวทุกจังหวัด ของ พม. มีข้อมูลที่ส่งมาถึงกรมฯ 1,359 กรณีที่ขอรับความช่วยเหลือ อันเนื่องมาจากความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งทางกรมฯมีมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหา เพราะเราตระหนักดีว่า ไม่ใช่กรมฯจะทำได้คนเดียว เราจึง MOU ร่วมกับอีก 43 องค์กร เพื่อขับเคลื่อน ป้องกัน รณรงค์ ปลูกจิตสำนึกให้เกิดความตระหนัก เห็นความสำคัญ และไม่ทำความรุนแรงกันในครอบครัว เราใช้คำที่สืบเนื่องมาหลายปี คือไม่นิ่งเฉย ไม่ยอมรับ และไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทุกรูปแบบ เราร่วมกับภาคีทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ทั้งที่ทำ MOU และไม่ได้ MOU ส่วนกลางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จะมีคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติจะเป็นกลไกระดับชาติในการกำหนดนโยบายกลไก นโยบายยุทธศาสตร์ตั้งแต่ปี 2560 – 2564 ในนโยบายนี้ตอบโจทย์การป้องกันและแก้ไขปัญหาครอบครัวโดยเฉพาะ เน้นที่การพัฒนาศักยภาพ การสร้างสัมพันธภาพ โดยทำร่วมกับหลายหน่วยงาน

“ในฐานะนักกฎหมาย ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ดีที่สุด มีจุดดี จุดเด่น และข้อจำกัด แต่ในเรื่องที่กฎหมายไปไม่ถึง เราใช้การบริหาร และการทำ MOU กับทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ต้องบอกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ไม่ได้มุ่งหมายที่จะเอาผิด เอาโทษ ทางอาญาต่อบุคคลในครอบครัว แต่ต้องการใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซงผู้ถูกกระทำ ไม่ให้ทำได้อีก และต้องการให้โอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้เป็น พ่อ แม่ เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว อันนี้คือเป้าประสงค์ แต่ถ้าเป็นไม่ได้ การดำเนินการก็ต้องทำให้ครอบครัวสูญเสียน้อยที่สุด คำนึงถึงเด็กเป็นสำคัญ การขอความคุ้มครองสวัสดิภาพฯ บรรเทาทุกข์ชั่วคราวเมื่อจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งจำเป็นต้องทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ นักสาธารณสุข ผู้ใหญ่บ้าน นักจิตวิทยา เข้าช่วยเหลือผู้ถูกกระทำและป้องกันไม่ให้ผู้ถูกกระทำได้ทำซ้ำอีก” นายกันตพงศ์ กล่าว

นายกันตพงศ์ กล่าวด้วยว่า สถิติของผู้กระทำความรุนแรงมากกว่าร้อยละ 83 เป็นผู้ชาย และผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก เราจึงขยายความร่วมมือไปถึงระดับโรงเรียนเรียกว่าศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวในภูมิภาคทั่วประเทศ 8 ศูนย์ มีนโยบายให้ศูนย์ขับเคลื่อนงานไปจนถึงโรงเรียน จึงมีการสร้าง ชมรม ริบบิ้นขาวในโรงเรียน เพื่อรณรงค์ให้ความรู้กับเด็กๆ ม.ต้น ม.ปลาย ตระหนักรู้ว่าต้องไม่นิ่งเฉย ไม่ยอมรับ การทำความรุนแรงในครอบครัวและให้ความรู้กับตัว พ่อแม่ผู้ปกครองด้วย

ฟังเสียงเหยื่อผู้ถูกกระทำรุนแรง...เอาชนะก้าวข้ามผ่านพ้นปัญหา

ด้านนางสาวเอ (นามสมมติ) คุณแม่ที่เคยประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า ประมาณ 3-4 ปี ตั้งแต่ท้องลูกคนแรก และคนที่ 2 คลอดได้ 4 เดือน สามีก็ทำร้ายหนัก มีอาวุธ ใช้มีดตีหัว แผลเก่ายังไม่หาย คิดแค่ว่าถ้าเราตายลูกจะอยู่ยังไง เราต้องรอด เขากีดกันไม่ให้เจอลูก จนต้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อนหญิง แล้วพาไปแจ้งแล้วตามหาลูก จนได้ลูกกลับมา ตนและลูกจึงไปอาศัยที่บ้านพักฉุกเฉิน เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ได้เลี้ยงลูกเอง มาอยู่ที่นี่ได้ฟื้นฟูจิตใจ แรกๆเห็นอะไรก็ร้องไห้ ทำไมชีวิตต้องมาเจออะไรแบบนี้ ตนได้เข้าร่วมกลุ่มโรงเรียนธัมใจ(Group Support) โดยบ้านพักฉุกเฉินและมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมจัดขึ้น ทุกเดือนๆละ1ครั้ง ทำให้จิตใจดีขึ้น คือเริ่มทิ้งเรื่องเก่า เออ ช่างมัน ไม่ฟ้อง ไม่ได้กีดกันพ่อเพื่อมาเจอลูกด้วยได้ตามปกติ ตั้งหน้าตั้งตาทำวันนี้ให้ดี เพื่ออนาคตของลูก หนูอยู่บ้านพักฯ ทำกิจกรรม ทำดอกไม้ประดิษฐ์และได้ช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ

“ตอนนี้ชีวิตดีขึ้น ได้ทำงานแล้วแถวดอนเมือง ทำมาได้ 4 เดือนกว่า พอทำแล้วได้เงินก้อนหนึ่ง ก็ออกมาอยู่ข้างนอก แต่ก็กลับเข้าไปร่วมกลุ่มให้กำลังใจ น้องๆที่เผชิญชะตาชีวิตมาเหมือนกับเรา คนเราเจอเรื่องราวอะไรมากมาย แต่ถ้าเรามีสติมันก็ข้ามผ่านมาได้ แม้ตอนนี้จะเหนื่อยตื่นตี 5 มาทำงาน กลับไปต้องเลี้ยงลูก แต่เราทำได้คือมันมีกำลังใจ เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยน บางทีตัวเอง อยู่กับตัวเอง เริ่มคิดว่าความทุกข์ของตัวเองนี่เป็นที่สุดแล้ว โลกจะแตกแล้ว การไม่ได้คุยกัน ไม่ได้ร้องไห้เป็นความอึดอัดกับตัวเราเอง แต่เมื่อเราได้ร้องไห้ มีคนกอด มีคนรับฟัง ชมว่าเราเก่ง เรามีพลังในตัว เราทำอะไรได้เยอะกว่าที่เราคิด เพียงแค่เรามีกำลังใจ”

ขณะที่ น้องบี (นามสมมติ) ผู้ที่เคยประสบปัญหาความรุนแรง กล่าวว่าตนถูกทำร้ายทางเพศ หนูพักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ แม่เป็นแม่บ้าน พ่อเป็นช่างสีรถยนต์ ซึ่งพ่อกับแม่ไม่ได้มีเวลาให้หนู ผู้ก่อเหตุเป็นคนรู้จักกับพ่อแม่ เมื่อหนูถูกทำร้ายก็ถูกผู้กระทำพูดข่มขู่ ห้ามไม่ให้บอกใคร และตนเองก็กลัวแม่กับพ่อถูกขู่ทำร้ายด้วย หนูเลยไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง แต่มีป้าข้างบ้านที่สังเกตุเห็นว่าหนูซึมผิดปกติ จึงพยายามถาม หนูได้เล่าให้ป้าฟังทั้งหมด ป้าเห็นว่าคนทำทำผิดกฎหมายจึงไปเล่าให้แม่ฟัง แม่เห็นว่าคนนั้นทำผิดเขาทำร้ายจิตใจแม่และน้องจึงพาไปแจ้งความ คู่กรณีก็มารับทราบ ตำรวจได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำ จากนั้นตำรวจได้ส่งไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์เห็นถ้าส่งหนูกลับไปพักที่จะเกิดอันตรายได้ จึงได้หนูมาอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉิน ส่วนคดีทราบว่าศาลได้พิพากษาลงโทษผู้กระทำ พิพากษาจำคุก

“ชีวิตตอนนี้ ได้กลับไปเรียนแล้ว หนูยังเรียนได้ตามปกติ มีเพื่อนๆ ได้เจอกับพ่อแม่ น้องชาย ผลการเรียนดีขึ้น เทอมที่ผ่านมาหนูสอบได้เกรดเฉลี่ย 3.9หนูดีใจ ภูมิใจมาก สภาพจิตใจดีขึ้น ได้ทำกิจกรรมศิลปะบำบัด และได้รักษาตัว ตอนนี้หนูดีขึ้น ดีขึ้นกว่าปกติ “หนูบอกกับตัวเอง เพื่อเข้มแข็งแล้ว ก้าวต่อไป”คือ ต้องอดทน อยู่เพื่อเรียน เพื่ออนาคตของหนู หนูชอบทำดอกไม้ประดิษฐ์ แล้วมีรายได้ ได้พอใช้จ่ายที่โรงเรียนบ้าง ตอนนี้ได้ปรับตัวกับพี่ๆ มากขึ้น กล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้นจากเดิมที่เก็บตัวไม่กล้าแสดงออก”