posttoday

ศาลยุติธรรมออกมาตรการ31ข้อ คุมเข้มความปลอดภัยภายในศาล

14 พฤศจิกายน 2562

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมลงนามออกมาตรการรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาล 31 ข้อ หลังเกิดเหตุยิงกันจนมีผู้เสียชีวิต

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมลงนามออกมาตรการรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาล 31 ข้อ หลังเกิดเหตุยิงกันจนมีผู้เสียชีวิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย.62 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้ลงนามในคำสั่งด่วนที่สุด เรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาล โดยส่งเป็นหนังสือเวียนถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมให้ใช้เป็นแนวทางและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด

คำสั่งดังกล่าวระบุว่าตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยขึ้นภายในบริเวณศาลต่างๆ ทั่วประเทศอันอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยภายในบริเวณศาลขึ้นอีก “สำนักงานศาลยุติธรรม” จึงได้ออกมาตรการในการรักษาความปลอดภัย บริเวณศาลดังนี้

ส่วนเกี่ยวกับอาคารและสถานที่

1.ปรับปรุงห้องขัง เป็นลูกกรงสองชั้นทั้งหมด และมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะป้องกันผู้ต้องขังหลบหนีเพื่อความสะดวกในการควบคุมผู้ต้องขังและป้องกันไม่ให้มีการส่งสิ่งของต้องห้ามแก่ผู้ต้องขังได้

2.ขอให้ศาลพิจารณาจัดช่องทางพิเศษสำหรับนำตัวผู้ต้องขังจากห้องขังของศาล มาสู่ห้องพิจารณาโดยไม่ผ่านประชาชนที่อยู่ในบริเวณศาล

3.หากศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีสำคัญเมื่อใด ควรติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ เพื่อเพิ่มมาตรการในการรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาลให้มากยิ่งขึ้นกว่าปกติ

4.ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลที่มีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขัง พกอาวุธในบริเวณศาลได้

5.ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตไว้ล่วงหน้า ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาล ทำการค้นตัวบุคคลได้ในทันทีทันใดหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลที่อยู่ในบริเวณศาลนั้นจะมีอาวุธติดตัวมาด้วย และอนุญาตให้จับกุมตัวบุคคลเช่นว่านั้นไว้แล้วจึงรายงานให้ศาลทราบในภายหลัง

6.ขอให้ศาลติดประกาศเรื่องการห้ามพกพาอาวุธหรือสิ่งของผิดกฎหมายเข้ามาในบริเวณศาล และให้บุคคลที่มาศาลประพฤติตนให้เรียบร้อยเพื่อเป็นการเตือนบุคคลที่อาจจะไม่ทราบข้อห้ามของศาล

7.หากผู้พิพากษามีความรู้สึกว่าตนเองจะไม่ปลอดภัยทั้งในขณะอยู่ที่ศาลหรือบ้านพัก ให้มีหนังสือลับแจ้งผู้บริหารศาล , ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาล หรือ ผอ.สำนักงานประจำศาลเพื่อแจ้งตำรวจท้องที่ให้จัดการระมัดระวังรักษาความปลอดภัยให้เป็นพิเศษ

8.ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจทำการตรวจสอบในกรณีที่มีการอ้างผู้ต้องขังเป็นพยาน หรือในกรณีที่จำเลยซึ่งถูกขังอยู่ให้ส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลอื่นและจำเลยขอตามประเด็นไปด้วย โดยจัดให้มีการตรวจสอบเสียก่อนว่าพยานนั้น ๆ มีตัวตนหรือไม่และได้รู้เห็นข้อเท็จจริงในคดีหรือไม่เพื่อป้องกันมิให้มีการกล่าวอ้างลอย ๆ เพื่อหาโอกาสให้ผู้ต้องขังที่ต้องเป็นพยานหรือตัวจำเลยเองหลบหนี

ส่วนเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาล หรือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์

1.จัดเจ้าหน้าที่ให้มีจำนวนเพียงพอที่จะรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาล โดยจะคัดเลือกจากบุคคลที่มีสมรรถภาพ มีประสบการณ์ในงานตำรวจมากเพียงพอที่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย

2.กำชับเจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจสอบความเรียบร้อยของเครื่องพันธนาการที่ใช้แก่ผู้ต้องขัง และการตรวจค้นตัวผู้ต้องขัง

3.กำชับเจ้าหน้าที่ให้ตรวจตราดูแลความเรียบร้อยในห้องขังของศาลก่อนนำผู้ต้องขังเข้าไปควบคุมไว้ และให้เข้มงวดในการตรวจสอบสิ่งของที่มีผู้นำมามอบให้แก่ผู้ต้องขังให้มากยิ่งขึ้น

4.กำชับเจ้าหน้าที่ให้คอยสอดส่องดูแลบุคคลที่มาศาล เพื่อป้องกันไม่ให้พกพาอาวุธหรือสิ่งของผิดกฎหมายเข้ามาในบริเวณศาล

5.ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ให้ความร่วมมือกับศาลหากได้รับคำร้องขอให้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้พิพากษาและในบริเวณศาล

6.แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพื่อขอทราบประวัติและข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวผู้ต้องขังที่มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ

ส่วนเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

1.เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องปฏิบัติตามกฎ , ระเบียบ , ข้อบังคับ เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยเคร่งครัด

2.เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในจุดหรือบริเวณภายในและภายนอกอาคารที่กำหนด

3.เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะละทิ้งหน้าที่ไปก่อนที่จะมีผู้เข้ารับเวรต่อเนื่องไม่ได้ ต้องรอจนกว่าจะมีผู้ที่มาเข้ารับเวรจึงจะออกไปจากสถานที่ได้ (เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา)

4.เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตื่นตัว รวดเร็ว และจะต้องพร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ในทุกรูปแบบ

5.เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องเตรียมเครื่องมือ-อุปกรณ์ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงานที่ให้นำติดตัวไปและพร้อมที่จะใช้งานตลอดเวลา รวมทั้งจะต้องคอยดูแลรักษาเครื่องแบบอุปกรณ์-เครื่องมือให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ

6.เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามตารางเวลาที่ได้กำหนดไว้

7.ดูแลป้องกัน รักษาทรัพย์สินของบุคลากร , อาคาร และสถานที่ของศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรม ให้รอดพ้นจากการโจรกรรม อัคคีภัยและเหตุร้ายอื่นๆ

8.ดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนที่เข้ามาติดต่อราชการในบริเวณศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม

9.ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ภายในบริเวณที่รับผิดชอบ ตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง

10.ดูแลการผ่านเข้า-ออก ของบุคคลและยานพาหนะ

11.อำนวยความสะดวกการจราจรทางเข้า-ออกและภายในบริเวณพื้นที่รับผิดชอบ

12.เปิด-ปิดประตูทางเข้า-ออกอาคารหรือสถานที่ ตามที่ศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมกำหนดให้

13.ในยามวิกาลเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องเดินตรวจตราตามจุดต่างๆ ภายในบริเวณหน่วยงานที่รับผิดชอบ

14.ดูแลป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทุกนายที่เข้าปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะต้องผ่านการฝึกอบรมในการดับเพลิงเบื้องต้นเพื่อนำไปใช้ในสถานการณ์จริง หากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามจนไม่สามารถดับได้อันนำมาซึ่งความเสียหายอย่างรุนแรง

15.เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ต้องบันทึกรายงานเหตุการณ์ประจำวันในการปฏิบัติหน้าที่ทุกวัน เพื่อรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเป็นประจำทุกวัน หากมีปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะได้หาทางแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกัน

16. ปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

ส่วนการเยี่ยมและของเยี่ยมสำหรับผู้ต้องขังขณะอยู่ที่ศาล

ให้เรือนจำ/ทัณฑสถานงดเยี่ยมและรับฝากสิ่งของจากญาติผู้ต้องขังทุกศาลที่เรือนจำฯรับผิดชอบอยู่ โดยจัดทำประกาศแจ้งให้ญาติผู้ต้องขังทราบว่าหากญาติมีความประสงค์จะเยี่ยมหรือฝากสิ่งของให้กับผู้ต้องขังขอให้ติดต่อกับผู้ต้องขังที่เรือนจำโดยตรง ทั้งนี้ให้รวมถึงเรือนจำ/ทัณฑสถานในส่วนภูมิภาคด้วย