posttoday

"ยูเอ็น" แสดงความยินดีคดีบิลลี่คืบหน้าออกหมายจับผู้ต้องหา

13 พฤศจิกายน 2562

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ยินดีกับความคืบหน้า" คดีบิลลี่" และเรียกร้องให้รัฐบาลทำมากขึ้น

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ยินดีกับความคืบหน้า" คดีบิลลี่" และเรียกร้องให้รัฐบาลทำมากขึ้น

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.62 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เผยแพร่เอกสารข่าว ยินดีกับการออกหมายจับบุคคลสี่คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวและฆาตกรรมนายพอละจี รักษ์จงเจริญ หรือ บิลลี่ นักปกป้องสิทธิชุมชนชาวกระเหรี่ยง

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กรมสืบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้รับการอนุมัติหมายจับจากศาลอาญาคดีทุจริตและการประพฤติมิชอบกลาง ดีเอสไอกล่าวว่าบุคคลสี่คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหารวมทั้งนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานด้วย บุคคลทั้งสี่คนได้รับการกล่าวหาว่าฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันขืนใจ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง และปล้นทรัพย์

“การดำเนินการโดยดีเอสไอในการนำผู้ต้องหาที่อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมบิลลี่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นก้าวที่สำคัญในการยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่ได้เกิดขึ้นกับคดีนี้ในช่วงเวลาสี่ปีที่ผ่านมา” ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนประจำภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนฯ ประจำกรุงเทพฯ กล่าว

ครั้งสุดท้ายที่มีพยานเห็นว่าบิลลี่ยังมีชีวิตคือ วันที่ 17 พ.ย. 2551 โดยเขาถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่สี่คนซึ่งอ้างว่าบิลลี่ได้ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา ก่อนหน้านี้ บิลลี่มีบทบาทในการร้องเรียนเจ้าหน้าที่เหล่านี้ในการทำลายทรัพย์สินและใช้กำลังในการไร้รื้อที่อยู่อาศัยของสมาชิกชุมชนกระเหรี่ยงจากบริเวณที่บรรพบุรุษของพวกเขาได้อยู่มาก่อน

ในวันที่ 6 ก.ย. 2562 ดีเอสไอได้แถลงว่าเศษกระโหลกศีรษะของมนุษย์ที่พบใกล้กับเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตรงกับดีเอ็นเอของบิลลี่

“ดีเอสไอมีบทบาทในปีนี้ในการดำเนินการที่สำคัญที่เคารพสิทธิการเข้าถึงข้อมูลกับครอบครัวบิลลี่และดำเนินมาตรการคุ้มครองพยานแก่คุณพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่” ซินเทียกล่าว

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เรียกร้องให้ดีเอสไอดำเนินการในลักษณะเดียวกันและหาทางออกต่อคดีที่คล้ายกันซึ่งรวมถึงการฆาตกรรมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบังคับสูญหาย ดีเอสไอได้ยุติการสืบสวนสอบสวนการบังคับสูญหายของนายสมชาย นีละไพจิตร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง และ กมล เหล่าโสภาพันธุ์ นักกิจกรรมต่อต้านการคอรัปชั่น ดีเอไอยังไม่ได้รับคดีที่เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายเด่น คำแหล่ นักกิจกรรมด้านสิทธิที่ดิน และ การฆาตกรรมนักกิจกรรมสามคนที่เป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตกรภาคใต้เป็นคดีพิเศษ

“สำนักงานฯ เราได้แสดงความกังวลอย่างสูงต่อประเทศไทยต่อการฆาตกรรมและทำให้นักปกป้องสิทธิฯ เป็นเหยื่อของการบังคับสูญหาย ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากที่ประเทศไทยจะอุทิศทรัพยากรทางบุคคลและทางการเงินในการตรวจสอบคดีที่เหลือและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมอย่างมีคุณค่าและรวดเร็วในการจัดตั้งกลไกภายในประเทศที่คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่จะยุติอาชญากรรมเหล่านี้”ซินเทีย เวลิโกกล่าว