posttoday

ปปง.ชงบอร์ดตรวจสอบทรัพย์สินเครือข่ายแม่มณี

12 พฤศจิกายน 2562

ปปง. -ดีเอสไอเร่งคดีแชร์ลูกโซ่เสนอคณะกรรมการธุรกรรมตรวจสอบทรัพย์สินเครือข่ายแม่มณี 18 พ.ย.นี้

ปปง. -ดีเอสไอเร่งคดีแชร์ลูกโซ่เสนอคณะกรรมการธุรกรรมตรวจสอบทรัพย์สินเครือข่ายแม่มณี 18 พ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 12พ.ย.62 พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการปปง. แถลงข่าวร่วมกับ ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีการติดตามทรัพย์สินที่ได้ไปจากการฉ้อโกงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่โดยใช้ชื่อ แชร์เงินออมกับแม่มณี ในอัตราสูงถึงร้อยละ 93

พล.ต.ต.ปรีชา กล่าวว่า ปปง. ได้สืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในรายคดีนี้แล้ว และเตรียมเสนอให้คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณามอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 11/2562 ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ และหากคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด สำนักงาน ปปง. จะดำเนินมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีดังกล่าว ซึ่งผู้เสียหายสามารถมายื่นเรื่องขอคุ้มครองสิทธิได้ภายในระยะเวลา 90 วันนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ ผู้เสียหายสามารถติดตามข่าวสารความคืบหน้าในการดำเนินการกับทรัพย์สินในคดีนี้ผ่านทางเว็บไซต์ สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า คดีนี้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้ดีเอสไอเร่งดำเนินการรับเป็นคดีพิเศษ และได้แจ้งให้ผู้เสียหายเข้ามายื่นเรื่องร้องทุกข์ผ่านระบบ QR Code ซึ่งพบว่ามีผู้เสียหายเข้ามายื่นเรื่องร้องทุกข์จำนวน 4,282 ราย มูลค่าความเสียหาย 979,599,159.75 บาท ส่วนแชร์ Forex-3D มีผู้เสียหาย 6,047 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,236,796,201.90 บาทแบ่งตามพื้นที่ดังนี้ กรุงเทพฯ 3,438 ราย เชียงใหม่ 856 ราย พิษณุโลก 111 ราย ขอนแก่น 347 รายนครราชสีมา 169 ราย อยุธยา 192 ราย นครปฐม 119 ราย ชลบุรี 337 ราย สุราษฎร์ธานี 240 รายสงขลา 153 ราย ปัตตานี 22 ราย และจังหวัดอื่นๆ 63 ราย

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต กล่าวว่า ปัญหาแชร์ลูกโซ่นั้น รัฐบาลได้ยกให้เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2560 เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ทั้งนี้ในส่วนของการเยียวยาผู้เสียหายนั้นปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดๆ ที่จะสามารถเยียวยาผู้เสียหายได้ ดังนั้น ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากรัฐบาลและสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมิจฉาชีพมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการหลอกหลวงให้คนหลงเชื่อเสมอ และขอยืนยันว่ามาตรการในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดในคดีแชร์ลูกโซ่นั้น จะใช้มาตรการภาษีและกฎหมายฟอกเงินเข้าไปดำเนินการกับทรัพย์สินเพื่อเร่งนำกลับมาคืนให้ได้มากที่สุด