posttoday

องค์กรแม่น้ำนานาชาติแนะ4ประเทศทบทวนข้อตกลงแม่น้ำโขง

23 ตุลาคม 2562

องค์กรแม่น้ำนานาชาติ แนะผู้บริหาร 4 ประเทศทบทวนข้อตกลงแม่น้ำโขง นักวิชาการเวียดนามเผยปากแม่น้ำรับผลกระทบหนักจากการสร้างเขื่อน

องค์กรแม่น้ำนานาชาติ แนะผู้บริหาร 4 ประเทศทบทวนข้อตกลงแม่น้ำโขง นักวิชาการเวียดนามเผยปากแม่น้ำรับผลกระทบหนักจากการสร้างเขื่อน

ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) อาคารมณียาเซ็นเตอร์ ถนนเพลินจิต กทม.องค์กรแม่น้ำนานาชาติได้จัดงานเสวนา “ Silencing the Mekong : เขื่อนไซยะบุรี นับถอยหลังถึงวันเดินเครื่อง” พร้อมทั้งเปิดตัวรายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยการทบทวนการออกแบบเพื่อปรับปรุงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.คาลร์ มิดเดิลตัน อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้แทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล บริษัทป่าสาละ ศาสตราจารย์ เล ออง ตวน นักวิชาการสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ประเทศเวียดนาม และนางสาวมอรีน แฮรริส ผู้อำนวยการองค์แม่น้ำนานาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร.คาลร์ มิดเดิลตัน กล่าวว่ามีการเสนอก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงมากมาย โครงการเหล่านี้ค่อนข้างอื้อฉาวในหลายเหตุผล หากดูเขื่อนไซยะบุรีที่มีการลงนามกับรัฐบาลลาวโดยได้มีการศึกษาผลกระทบและเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือ ที่ผ่านมาแม้ประชาชนไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ก็มีการเดินหน้าโครงการตลอด โดยโครงการนี้ลงทุนโดยบริษัทช.การช่าง และการร่วมทุนจากบริษัทต่างๆ ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารไทย 6 แห่ง ถือว่าเป็นเขื่อนแห่งแรกที่กั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยได้มีการศึกษาที่ริเริ่มโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือเอ็มอาร์ซี ซึ่งได้มีข้อเสนอให้ชะลอการสร้างเขื่อนออกไปก่อนเป็นเวลา 10 ปี เพื่อทำการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน แต่เอ็มอาร์ซีไม่ได้รับรองรายงานฉบับดังกล่าว ทำให้ไม่ได้มีการนำไปใช้ จนกระทั่งสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ทั้งในประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม ยกเว้นในประเทศลาว

ดร.คาลร์กล่าวว่า เขื่อนไซยะบุรีก่อสร้างโดยบริษัทที่ไม่ได้มีความชำนาญเรื่องเขื่อนมาก่อน และประชาชนริมแม่น้ำโขงได้ฟ้องศาลปกครองเพราะหน่วยงานรัฐของไทยควรที่ต้องอยู่ในบังคับใช้กฎหมายไทย โดยชาวบ้านฟ้องเมื่อปี 2012 ต่อมาศาลไม่รับฟ้องแต่ชาวบ้านก็ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด จนกระทั่งเขื่อนสร้างเสร็จและทดลองผลิตไฟฟ้า โดยตลอด 9 ปีที่ผ่านมาตนได้ติดตามเรื่องนี้ พบว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีมีการตัดสินใจจากหลายระดับ แม้จะบอกว่ามีบันไดปลาโจน หรือทางปลาผ่าน แต่ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้

นางอ้อมบุญกล่าวว่า เรายื่นเรื่องสู่ศาลปกครองมา 7 ปีแต่จนวันนี้สิ่งที่เราเป็นห่วงเรื่องผลกระทบได้เกิดขึ้นแล้ว เขื่อนไซยะบุรีเกิดขึ้นจากคนไทยตั้งแต่การสร้างเขื่อน ปล่อยเงินกู้และการรับซื้อไฟฟ้า โดยเขื่อนไซยะบุรีได้สร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้เกิดน้ำแห้ง ทั้งๆที่เป็นฤดูน้ำหลาก ทำให้พบว่าปลาที่อพยพมาวางไข่ไม่สามารถว่ายมาได้และตายเป็นจำนวนมาก ขณะที่แก่งคุดคู้ ในจังหวัดเลยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังได้เกิดน้ำแห้งอย่างหนัก ปัญหาที่สำคัญคือมีปลาหลงฤดูอพยพเข้ามา และเมื่อผ่าท้องดูจะเห็นว่าปลาไม่อยู่ในสภาพที่จะวางไข่ได้

นางสาวสฤณี กล่าวว่าเคยทำงานเกี่ยวกับการให้เงินกู้ในลักษณะนี้มาก่อน ซึ่งผ่านไป 20 ปีแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย การปล่อยกู้ให้โครงการเขื่อนเป็นที่น่าสนใจของธนาคารมากเพราะเงินไหลเข้าอยู่แล้ว ตราบใดที่มีสัญญาซื่อขายไฟฟ้า ขณะที่โครงการอื่นมีความไม่แน่นอนมากกว่า ดังนั้นการปล่อยเงินกู้จึงไม่ได้ดูความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อมีโครงการใหม่เสนอเข้ามา ธนาคารก็ขอให้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาเลยก็จะได้เงินกู้ เพราะธนาคารมองแต่ในมุมที่ต้องปฎิบัติตามกฎหมายเท่านั้น โดยคิดว่าตัวเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม จึงมองกระบวนการทางกฎหมายต่างๆ ที่ต้องทำอย่างถูกต้องและปฎิบัติตามความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งโครงการเขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการที่ใหญ่และมีการพูดถึงผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างมาก แต่เขาบอกว่าไม่ได้ผิดกฎหมายใด อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป ธนาคารคงได้บทเรียนเพิ่มขึ้นว่าการศึกษาผลกระทบข้ามแดนนั้น มีความสำคัญอย่างไร

นางสาวสฤณีกล่าวว่า ธนาคารไม่ได้มองว่าได้ปฎิบัติตามข้อตกลงแม่น้ำโขงหรือยัง ตนได้คุยกับผู้บริหารระดับสูงธนาคารรายหนึ่ง เขาบอกว่าโครงการใหม่อาจต้องมีเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติมและต้องไม่มีข้อโต้แย้งจากประเทศเพื่อนบ้านเลย ขณะที่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าไม่ได้มีการสรุปอย่างเป็นทางการ จึงถือว่าไม่มีการคัดค้านจากประเทศใดๆ อย่างเป็นทางการ ดังนั้นข้อตกลงแม่น้ำโขง ธนาคารอาจมองว่าไม่ปฎิบัติตามก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย ขณะที่ธนาคารได้พึ่งผู้เชี่ยวชาญจากผู้กู้ ดังนั้นทำอย่างไรที่จะให้การศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญอิสระด้วย ซึ่งตอนนี้เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง

“ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือ หลายธนาคารชั้นนำในเวลานี้กำลังใช้หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ UNGP นอกจากนี้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง ก็ได้ลงนามความร่วมมือกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ภายใต้หลักการการธนาคารเพื่อความยั่งยืน โดยนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาร่วมพิจารณาในการกำหนดนโยบายในการให้สินเชื่อ และมีกระบวนการจัดการความเสี่ยงและผลกระทบจากการให้สินเชื่อของธนาคาร รวมทั้งมีกระบวนการร้องเรียนหากเกิดปัญหาจากโครงการ” นางสาวสฤณี กล่าว

ขณะที่ศาสตราจารย์ เล ออง ตวน นักวิชาการสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเกิ่นเธอ ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า เราพยายามทำงานกับฝ่ายต่างๆ ที่ปากแม่น้ำโขงในเวียดนามเพื่อให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้โดยแม่น้ำโขงปากแม่น้ำได้ถูกกัดเซาะอย่างหนักซึ่งเป็นผลกระทบจากหลายส่วน เราพบว่าโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงส่งผลต่อการจมลงของปากแม่น้ำโขง เพราะตะกอนของแม่น้ำโขงหายไปอย่างมากกว่า 95% ส่งผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยเราต้องเสียพื้นที่ถึง 500-550 เฮตาต่อปี การหายไปของตะกอนปากแม่น้ำโขงทำให้ป่าชายเลน ป่าโกงกางหายไปด้วยยิ่งทำให้เกิดการกัดเซาะรุนแรงขึ้น ตอนนี้ชาวบ้านเลยไม่รู้ว่าชายฝั่งอยู่ตรงไหน ที่น่าสนใจคือบริษัทปิโตรเวียดนามกำลังเข้าไปร่วมลงทุนโครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ร่วมกับนักลงทุนอื่นถือว่าเป็นข่าวช็อคของคนเวียดนาม และตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลเวียดนามถึงยอมให้บริษัทปิโตรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนแห่งนี้ ปัจจุบันพบว่ามีความเสี่ยง 6 อย่างคือเขื่อน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การเพิ่มขึ้นของประชากร ต่างส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงปากแม่น้ำ ซึ่งปัจจุบันปัจจัยอื่นๆ เราสามารถปรับเปลี่ยนและควบคุมได้ แต่การสร้างเขื่อนตอนบนเราไม่สามารถปรับได้ซึ่งสำหรับผมการสร้างเขื่อนตอนบนควรยุติในทันที

“ผู้มีอำนาจระดับสูงของไทย ลาว เวียดนามและกัมพูชา ควรกลับมาทบทวนข้อตกลงแม่น้ำโขง เราอาจต้องมีข้อตกลงใหม่ในการบริหารแม่น้ำโขงเข้มงวดกว่านี้ และกระจายผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม ปากแม่น้ำก็อยากผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน” ศาสตราจารย์เล ออง ตวน กล่าว

นางสาวมอรีน แฮรริส กล่าวว่าเมื่อเริ่มต้นโครงการเขื่อนไซยะบุรีได้เกิดคำถามขึ้นมากมาย ทำให้ผู้ลงทุนต้องเปลี่ยนแปลงแบบสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเพิ่มเงินกู้โดยมีการปรับแบบ ซึ่งองค์การแม่น้ำนานาชาติได้ให้ผู้เชี่ยวชาญ 2 คนศึกษาการเปลี่ยนแบบดังกล่าว ทำให้เราเห็นถึงช่องว่าง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าการเปลี่ยนแบบไม่ได้ระบุว่ามีผลต่อปลาผ่านอย่างไร เขื่อนไซยะบุรีกำลังใช้แม่น้ำโขงเป็นห้องทดลองโดยเฉพาะด้านนิเวศวิทยาและชีววิทยา และพบว่าการเปลี่ยนแบบไม่สามารถรับรองว่าบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น การอพยพของปลาที่ผู้สร้างเขื่อนบอกว่าได้สร้างบันไดปลาผ่าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลาจะใช้ได้จริงหรือไม่ อย่างไร

นางสาวมอรีน แฮรริส กล่าวว่ากระบวนการของเขื่อนไซยะบุรีทำให้เห็นถึงความอ่อนแอของกลไกเอ็มอาร์ซีที่ใช้ในการหารือระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างมีประสิทธิภาพ