posttoday

ผู้นำเข้าสารพิษรายใหญ่ส่งหนังสือล็อบบี้นายก

21 ตุลาคม 2562

กลุ่มผู้นำเข้าสารพิษรายใหญ่ ส่งหนังสือถึง "บิ๊กตู่" ทบทวนยกเลิกแบน 3 สารพิษฆ่าหญ้า อ้างเกษตรกรเสียมากกว่าได้

กลุ่มผู้นำเข้าสารพิษรายใหญ่ ส่งหนังสือถึง "บิ๊กตู่" ทบทวนยกเลิกแบน 3 สารพิษฆ่าหญ้า อ้างเกษตรกรเสียมากกว่าได้

ดร. เสียง ฮี ตันกรรมการบริหาร ครอปไลฟ์ เอเชีย (CropLife Asia) ซึ่งมีบริษัทสมาขิกประกอบด้วย บริษัทผลิตสารเคมีเพื่อการเกษตร 6 บริษัทได้แก่ BASF, ไบเออร์ ครอปซายน์, คอร์เทวา, เอฟเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น, ซูมิโตโม เคมีคอล และ ซินเจนทา ได้เข้ายื่นจดหมายแก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่รู้สึกว่าจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างเต็มที่และเป็นธรรม เกี่ยวข้องกับการห้ามใช้สารอารักขาพืช 3 ชนิด

ทั้งนี้รายละเอียดของหนังสือมีดังนี้

ในนามของครอปไลฟ์ เอเชีย (CropLife Asia) และอุตสาหกรรมการเกษตรทั้งในประเทศไทยและภูมิภาค เราขอขอบคุณท่านสำหรับการทำงานและการเป็นผู้นำประเทศ และขอขอบคุณภาคการเกษตรในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรชาวไทย

อย่างที่ท่านคงทราบ ครอปไลฟ์ เอเชีย ส่งเสริมประโยชน์และความรับผิดชอบในการใช้สารอารักขาพืช และเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงกรอบการกำกับดูแลเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางการเกษตรอย่างยั่งยืนในภูมิภาค เราและสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (Thai Agricultural Innovation Trade Association: TAITA) ประสบความสำเร็จในการเป็นพันธมิตรร่วมกันมาตลอดหลายปีกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการวิจัยและพัฒนา และสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาผลประโยชน์ร่วมกันในการเติบโตทางการเกษตรอย่างยั่งยืนในประเทศไทย

ค่านิยมร่วมกันในการทำงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ยังคงมาจากวัตถุประสงค์หลักเพื่อการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรไทย (Thailand Farmers) ให้ผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่ามากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง เพื่อป้อนประชากรในภูมิภาคและโลกที่กำลังเพิ่มขึ้น และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับเกษตรกรและครอบครัว

ตามที่ทราบกันดีว่า เกษตรกรไทยประมาณ 13 ล้านคนถูกมองว่าเป็นส่วนสำคัญของการผลิตอาหารเพื่อป้อนประชากรบนโลกที่มีจำนวนมากขึ้น จากผลกระทบของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เช่น ภัยแล้งและอุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พื้นที่ทางการเกษตรลดลงและน้ำมีน้อยลง ขณะที่ศัตรูพืช วัชพืช และโรคต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้การทำงานของกลุ่มเกษตรกรไทยเป็นไปด้วยความยากลำบาก

นวัตกรรมการอารักขาพืชเป็นส่วนสำคัญสำหรับกลุ่มเกษตรกรไทยในการรับมือกับความท้าทายนี้ โดยร้อยละ 50 ของการผลิตอาหารในประเทศไทยและทั่วโลกจะสูญเสียเนื่องจากศัตรูพืช วัชพืช และโรคต่าง ๆ หากไม่มีเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมของสารอารักขาพืชเข้ามาช่วย

ผู้นำเข้าสารพิษรายใหญ่ส่งหนังสือล็อบบี้นายก

ในขณะที่เทคโนโลยีอารักขาพืชมีความสำคัญในการช่วยกลุ่มเกษตรกรไทย ครอปไลฟ์ เอเชีย และสมาชิก ให้ความจริงจังกับพันธสัญญาของเราในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีอารักขาพืชอย่างรับผิดชอบ นี่คือเหตุผลที่เรามีความภูมิใจในการเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการวิจัยและพัฒนา และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ที่ส่งเสริมการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งโมเดล GAP ถูกนำไปใช้ในประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาครวมถึงประเทศไทยอย่างประสบความสำเร็จ เพื่อสุขภาพที่ดีของเกษตรกรและบุคลากรด้านการเกษตร ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความปลอดภัยของอาหาร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้สารอารักขาพืชอย่างรับผิดชอบและมีประสิทธิภาพ

และด้วยพันธสัญญานี้เอง เราจึงได้มีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ข้าราชการ ผู้ค้าปลีกและบุคคลอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการนำแนวปฏิบัติในการใช้สารอารักขาพืชไปใช้อย่างรับผิดชอบ และมีการฝึกอบรมบุคลากรทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่า 15 ล้านคน ในภูมิภาคเอเชียระหว่างปีพ.ศ. 2548-2558

ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2560 เกษตรกรนับหมื่นคนทั่วประเทศไทยต่างเห็นพ้องอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความสำคัญของเทคโนโลยีอารักขาพืชทางการเกษตรที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้ และในขั้นตอนการพิจารณาทบทวนของคณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติ (National Hazardous Substance Committee) เกี่ยวกับสารอารักขาพืชทั้งสามชนิดว่าเข้าข่ายเป็นสารต้องห้ามอยู่ในขณะนี้ กลุ่มเกษตรกรไทยได้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ที่จัดขึ้นโดยกรมวิชาการเกษตรและแบ่งปันมุมมอง อีกทั้งยังได้ร่วมกันลงชื่อร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีและผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น

ตามแนวทางของรัฐบาล กระบวนการพิจารณาทบทวนที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติเป็นไปในรูปแบบของการปรึกษาหารือ มีความครบถ้วน โปร่งใส และเหนือสิ่งอื่นใดมีความยุติธรรม โดยได้รับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าด้านอาหารโดยครอบคลุมถึงเกษตรกร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ด้านอุตสาหกรรม และอื่น ๆ ซึ่งนำมาสู่การตัดสินใจบนหลักวิทยาศาสตร์

เป็นที่น่าเสียดายที่กลุ่มเกษตรกรไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะสูญเสียเครื่องมือที่จำเป็นในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อปีที่ผ่านมาโดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติให้สามารถใช้ได้ ข้อเสนอทางการเมืองในการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยคุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังถูกพิจารณาโดยรัฐบาลและรัฐสภาซึ่งปราศจากหลักฐานใหม่ทางวิทยาศาสตร์ หรือการหารือกับเกษตรกร หรืออุตสาหกรรมอารักขาพืชทางการเกษตร

ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนและแนวนโยบายของท่านอย่างเต็มที่ตลอดกระบวนการปรึกษาหารือกับเกษตรกรและการประเมินผลกระทบของการสั่งห้ามใช้สารเคมี เป็นที่น่าเศร้าที่การผลักดันทางการเมืองดังกล่าวในปัจจุบันไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด การสั่งห้ามอย่างรีบร้อนนี้เป็นการเพิกเฉยต่อการตัดสินใจทางกฎหมายของคณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติเมื่อปีที่ผ่านมา และถือเป็นการมองข้ามเสียงของกลุ่มเกษตรกรไทยหลายหมื่นคนที่เข้าร่วมการทบทวนครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งยังบั่นทอนการทำงานอันสมเหตุสมผลที่เน้นการปรึกษาหารือและภาระความรับผิดชอบ

ผู้นำเข้าสารพิษรายใหญ่ส่งหนังสือล็อบบี้นายก

อย่างที่ท่านทราบดีว่า กลุ่มเกษตรกรไทยและเศรษฐกิจของประเทศมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง

สารกำจัดศัตรูพืชที่กำลังถูกพิจารณาเข้าข่ายว่าเป็นสารต้องห้ามนั้น มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดผลไม้ส่งออกที่ประสบความสำเร็จของประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยประมาณหนึ่งแสนล้านบาท และยังคงเติบโตตามผลผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผลไม้ไทยเป็นที่ต้องการสูงในตลาดต่างประเทศ การยกเลิกยากำจัดศัตรูพืชนี้ รวมไปถึงสารอารักขาพืชที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอื่น ๆ จะสร้างความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ สารกำจัดวัชพืชสองชนิดที่กำลังถูกพิจารณาสั่งห้ามนั้น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับกลุ่มเกษตรกรไทย ในการต่อสู้กับวัชพืชในพืชหลัก เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อยและไม้ผล ผลที่อาจเกิดขึ้นจากการปิดกั้นไม่ให้กลุ่มเกษตรกรไทยใช้สารกำจัดวัชพืชทั้งสองชนิดนี้ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการควบคุมวัชพืชสำหรับเกษตรกรในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเป็น 8,100 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย รวมถึงการสูญเสียผลผลิตประมาณ 4.7 ล้านตันที่มีมูลค่ามากกว่า 13,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ผลกระทบที่ไม่คาดคิดต่อการสั่งห้ามผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คือการค้าที่อาจหยุดชะงัก เนื่องจากประเทศนำเข้าที่ปฏิบัติภายใต้ปริมาณสารพิษตกค้าง (Maximum Residue Limits: MRLs) มีการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าอาหารและพืชผักผลไม้ที่สำคัญของไทย เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี แอปเปิ้ล องุ่น และกาแฟ

ขณะนี้คุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการระงับการนำเข้าสารอารักขาพืชทั้งหมด โดยมีคำสั่งให้กรมวิชาการเกษตรปฏิเสธการออกใบอนุญาตที่จำเป็นทั้งหมด การดำเนินการนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาทบทวนสารเคมีเกษตรทั้งสามชนิดครั้งใหม่นี้ การกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการเกษตรในวงกว้าง และส่งสัญญาณไปยังอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ โดยมีนัยยะว่าประเทศไทยปิดประตูทางธุรกิจ ไม่ปฏิบัติตามกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และที่ดูแลโดยหน่วยงานกำกับภายใต้กรมวิชาการเกษตร เสมือนมองข้ามผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรไทยในท้ายที่สุด

ทั้งแนวโน้มในการสั่งห้ามใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้งสามชนิด และการระงับการนำเข้าทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงจากข้อเท็จจริงที่ว่า กรมวิชาการเกษตรไม่อนุมัติให้มีการใช้เทคโนโลยีการอารักขาพืชใหม่ ๆ เพื่อการเกษตรตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกในการอนุมัติ/ จดทะเบียนนวัตกรรมใหม่เพื่อการอารักขาพืชอยู่ระหว่าง 2.5-5 ปี แต่ประเทศไทยใช้เวลาเฉลี่ยเกือบ 8-10 ปี น่าเสียดายที่สิ่งนี้ไม่เพียงทำให้กลุ่มเกษตรกรไทยเสียเปรียบในการแข่งขันกับเกษตรกรทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังทำให้พวกเขามีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะใช้สารเคมีปลอม คุณภาพต่ำ และผิดกฎหมายซึ่งจะเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์

อุตสาหกรรมของเรามีความภูมิใจในการเป็นพันธมิตรที่ยาวนานกับรัฐบาลไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและช่วยให้กลุ่มเกษตรกรในประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายที่ต้องพบเจอ เราสนับสนุนความพยายามของท่านในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นมาสู่ภาคการเกษตรของประเทศไทย และเชื่อว่านวัตกรรมเพื่อการเกษตรของสารอารักขาพืชที่มีการใช้อย่างรับผิดชอบ ที่มีบทบาทสำคัญในภายภาคหน้า