posttoday

อ.ธรณ์ เสนอแนวคิดทำ "ห่วง ช่วยฉลามวาฬ" เมื่อถูกเชือกมัด

20 ตุลาคม 2562

นักวิชาการทางทะเล เสนอแนวคิดนวัตกรรมห่วงช่วยฉลามวาฬเมื่อถูกเชือกมัด แนะไม่ยากถ้าบริษัทใหญ่สนับสนุน

นักวิชาการทางทะเล เสนอแนวคิดนวัตกรรมห่วงช่วยฉลามวาฬเมื่อถูกเชือกมัด แนะไม่ยากถ้าบริษัทใหญ่สนับสนุน

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรทางทะเล โพสต์เฟซบุ๊กนำเสนอแนวคิดการช่วยเหลือปลาฉลามวาฬ หลังมีเหตุการณ์พนักงานแท่นขุดเจาะช่วยตัวที่ถูกเชือกมัดติดหาง

ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรทางทะเล อธิบายสาเหตุเชือกไปติดได้อย่างไรว่า เมื่อชาวประมงลงอวนล้อมตอนกลางคืน ก็ไม่ทราบว่ามีฉลามวาฬอยู่ใกล้ๆและเมื่อล้อมอวน ฉลามวาฬก็บังเอิญติดมาด้วย ซึ่งพวกชาวประมงก็จะช่วยกันเอาออกดังที่เป็นข่าวหลายหน

แต่ทว่าฉลามวาฬเป็นปลาใหญ่สุดในโลกบางตัวยาว 8-9 เมตร จึงมีน้ำหนักเกือบสิบตัน และเวลาตกใจแล้วดิ้น แรงมหาศาลทำให้บางหนก็ปลดไม่ทันหรือเชือกขาดเลยติดหางฉลามวาฬ ซึ่งเชือกพวกนี้บางทีก็เกิดปัญหา เช่น บาดลึกเป็นแผลซึ่งทำให้ฉลามวาฬบาดเจ็บ และถ้าอยู่ไปนานๆเมื่อเพรียงมาเกาะจะยิ่งบาดเข้าไปใหญ่

ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุว่า เราคงไม่สามารถไปบอกให้ชาวประมงเลิกทำประมง เพราะเขาทำถูกกฎหมายทุกอย่าง และชาวประมงก็ไม่อยากให้ฉลามวาฬมาติดอวนหรอก

ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่วิธีช่วย ซึ่งอาจต้องหาทางศึกษาจริงจังว่าจะช่วยอย่างไรให้เชือกไม่พันหาง

ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรทางทะเล คิดว่า หากมีใครคิดนวัตกรรมทำเป็นห่วง ใช้ลอคหางฉลามวาฬแล้วดึงออกจากอวนได้ มีกลไกปลดสลัก เช่น เชือกเส้นเล็กเพื่อดึงห่วงออกมาเมื่อฉลามวาฬหลุด เพื่อไม่ให้ห่วงติดไปกับฉลามวาฬ หรือหากไม่หลุด หากใครเจอก็สามารถว่ายตามไปดึงเชือกได้ง่ายหน่อย เพราะการว่ายไล่ฉลามวาฬเพื่อเอาขอเกี่ยวยากแน่นอน

ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุต่ออีกว่า ห่วงช่วยชีวิตฉลามวาฬ ฟังดูแล้วอาจเป็นไปได้ยาก แต่เชื่อว่าในยุคที่คนรักทะเลมากมายขนาดนี้ เป็นไปได้แน่ และยังมีบริษัทใหญ่ๆอีกมากที่น่าจะมาสนับสนุน ทั้งการคิดค้นและสั่งผลิตเพื่อนำไปแจกให้พี่น้องเรือประมง