posttoday

"หมอธีระวัฒน์"ยันข้อมูลชี้ชัด "พาราควอต" ตกค้างในดิน-สิ่งมีชีวิต

17 ตุลาคม 2562

"หมอธีระวัฒน์"ชี้คำกล่าวที่ว่า "พาราควอตสามารถสลายตัวในสิ่งแวดล้อมค่อนข้างดี" ไม่เป็นความจริง ชี้มีข้อมูลชัดว่าตกค้างในดิน-สิ่งมีชีวิต

"หมอธีระวัฒน์"ชี้คำกล่าวที่ว่า "พาราควอตสามารถสลายตัวในสิ่งแวดล้อมค่อนข้างดี" ไม่เป็นความจริง ชี้มีข้อมูลชัดว่าตกค้างในดิน-สิ่งมีชีวิต

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเกี่ยวกับสารพาราควอต ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 สารเคมีที่มีการเรียกร้องให้แบนเนื่องจากเป็นสาเหตุของการเกิดโรค โดยระบุว่า

คำกล่าวที่บอกว่าพาราควอตสามารถ “สลายตัวในสิ่งแวดล้อมค่อนข้างดี” ไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง

ความเป็นจริงคือพาราควอตสามารถตกค้างในดินประเภทต่างๆอย่างยาวนาน ฐานข้อมูลของ EXTOXNET ของกระทรวงเกษตรสหรัฐซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายมหาวิทยาลัยระบุว่า “พาราควอตต้านทานต่อการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์และแสงอาทิตย์ ตกค้างยาวนาน โดยครึ่งชีวิตของพาราควอตมีระยะเวลาตั้งแต่ 16 เดือน(ในห้องทดลอง) จนถึง 13 ปีในพื้นที่จริง”

ในขณะที่ EPA แคลิฟอร์เนียระบุว่า “การย่อยสลายทางเคมี แสงอาทิตย์ และจุลินทรีย์นั้นเป็นกระบวนการที่ “extremely slow” มีงานวิจัยชั้นหลังอีกเป็นจำนวนมากที่พบว่าพาราควอต สามารถตกค้างได้นานกว่านั้นหลายเท่า

หากพาราควอตย่อยสลายได้ดีย่อมเป็นไปได้ยากที่พบการตกค้างในสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ ซึ่งงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง ยังพบการตกค้างเกินมาตรฐานในสิ่งมีชีวิตหลายชนิดบริเวณใกล้พื้นที่ฉีดพ่น รวมทั้งงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่พบการตกค้างในขี้เทาของทารกแรกคลอดสูงถึง 54.7%