posttoday

"นักวิทยาศาสตร์" ชี้ปากกาเมจิกซึมถุงโจ๊กได้ แนะงดใช้เขียน

15 ตุลาคม 2562

รศ.ดร.เจษฎา เผยสีเมจิกปนเปื้อนในถุงอาหารพลาสติกได้เมื่อถูกความร้อน แนะนำหลีกเลี่ยงใช้เขียนบนถุง แม้มีปริมาณน้อยไม่ทำอันตรายต่อร่างกายก็ตาม

รศ.ดร.เจษฎา เผยสีเมจิกปนเปื้อนในถุงอาหารพลาสติกได้เมื่อถูกความร้อน แนะนำหลีกเลี่ยงใช้เขียนบนถุง แม้มีปริมาณน้อยไม่ทำอันตรายต่อร่างกายก็ตาม

*********************   

จากกรณีสังคมให้ความสนใจกับภาพถุงโจ๊ก ซึ่งร้านค้าแห่งหนึ่งได้นำปากกาเมจิกมาเขียนเพื่อแยกประเภทแบบไหนใส่ไข่ไว้ด้านนอก แต่เมื่อเปิดถุงเพื่อรับประทานพบว่าหมึกของปากกาเมจิกซึมเข้าไปผสมกับเนื้อโจ๊กจนกลายเป็นสีชมพูนั้น

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ โดยแบ่งเป็นปัจจัย 3 เหตุผลได้แก่ ชนิดของถุงพลาสติก ชนิดของปากกาเมจิกที่ใช้เขียนและความร้อนของอาหาร

"นักวิทยาศาสตร์" ชี้ปากกาเมจิกซึมถุงโจ๊กได้ แนะงดใช้เขียน

อาจารย์เจษฎาบอกว่า "ถุงพลาสติก’"ปกติมีความสามารถให้ความชื้นหรืออากาศผ่าน โดยแต่ละชนิดก็มีความมาก-น้อยในระดับที่ต่างกัน ซึ่งช่องว่างของโมเลกุลของถุงพลาสติกสามารถที่จะขยายกว้างขึ้นได้อีกเมื่อสัมผัสกับความร้อน

“เราอาจจะมองว่าโครงสร้างของถุงมีลักษะทึบตันโดยโมเลกุลของสสารที่จับตัวกัน แต่เมื่อโดนความร้อนก็ทำให้โมเลกุลขยายได้ ซึ่งพลาสติกแต่ละชนิดก็มีความพรุนที่ต่างกัน กรณีถุงร้อนแบบขุ่น HDPE ในข่าวก็เป็นไปได้เพราะใส่อาหารที่ร้อนทำให้การขยายของช่องโมเลกุลพวกนี้มากขึ้น”

ชนิดของปากกาทำปนเปื้อน

อาจารย์เจษฎา บอกต่อถึงปัจจัยอีกอย่างที่ทำให้เกิดกรณีสีเมจิกซึมเข้าไปในอาหารได้นั้น เกิดขึ้นได้จากชนิดสารละลายของเนื้อสีปากกาเมจิก

“ตัวปากกาเมจิกที่ใช้กันแต่ละยี่ห้อก็มีตัวทำละลายของหมึกไม่เหมือนกัน ซึ่งสารบางตัวสามารถทำให้ซึมเข้าไปในอาหารได้อย่างที่เห็น จึงทำให้บางคนบอกว่าไม่เห็นซึมผ่าน เพราะเป็นปากกาคนละยี่ห้อ”

"นักวิทยาศาสตร์" ชี้ปากกาเมจิกซึมถุงโจ๊กได้ แนะงดใช้เขียน

ร่างกายขับได้ แต่ไม่ควรทำ

อาจารย์เจษฎาระบุว่า กรณีสีเมจิกที่ปนเปื้อนเข้าไปอยู่ในโจ๊กในทางเคมีถือว่าน้อยมากที่จะส่งผลอันตรายต่อร่างกาย           

“ตัวปากกาเมจิก มีสีเคมีทั้งเนื้อสีเองด้วยและตัวทำละลายที่เป็นสารอินทรีย์ ปกติจะไม่ค่อยดีต่อสุขภาพแต่เราไม่ได้นำมาบริโภคหรือกิน ทว่าในการนำปากกาเมจิกไปเขียนและทำให้ซึมไปในอาหารแปลว่าเราบริโภคเข้าไป แต่นับเป็นปริมาณน้อยมาก ซึ่งในปริมาณน้อยแบบนี้ร่างกายสามารถที่จะกำจัดได้ ย่อยสลายมันออกไปได้เอง”

อย่างไรก็ตามอาจารย์เจษฎาแนะนำว่าไม่ควรที่จะนำปากกาเมจิกมาเขียนบนถุงอาหารเพราะร่างกายไม่จำเป็นต้องรับสารเคมีเหล่านี้โดยใช่เหตุ

“สารเคมีจากปากกาเมจิกทำให้ละคายเคืองระบบทางเดินอาหารรุนแรง แต่ต้องในปริมาณมากๆ  เช่นรับสารละลายแบบกินโดยตรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นร่างกายของเราก็ไม่ควรต้องรับสารเคมีพวกนี้”

"นักวิทยาศาสตร์" ชี้ปากกาเมจิกซึมถุงโจ๊กได้ แนะงดใช้เขียน

ภาพจากเฟซบุ๊ก Wirintorn Diloktharadol