posttoday

ข้อควรรู้! ชม "วาฬบรูด้า" อย่างไรไม่ให้รบกวนสัตว์

15 ตุลาคม 2562

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ แนะข้อปฏิบัติในการชม "วาฬบรูด้า" เพื่อไม่ให้รบกวนและสร้างผลกระทบต่อสัตว์

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ แนะข้อปฏิบัติในการชม "วาฬบรูด้า" เพื่อไม่ให้รบกวนและสร้างผลกระทบต่อสัตว์

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงข้อปฏิบัติในการชม "วาฬบรูด้า" เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนและสร้างผลกระทบต่อวาฬว่า ความเร็วเรือที่เข้าไปในพื้นที่หากินของวาฬบรูด้า ต้องต่ำกว่า 7 น็อต ในรัศมี 400 เมตร และต่ำกว่า 4 น็อต ในรัศมี 100-300 เมตร จำนวนเรือไม่เกิน 3 ลำ โดยรอบพื้นที่

นอกจากนี้ การสร้างเสียงรบกวนทั้งจากเหนือน้ำและใต้น้ำ จะส่งผลกระทบต่อวาฬ ดังนั้น จึงไม่ควรกระทำการใด ๆ ให้เกิดเสียงดังมาก เช่น การเร่งเครื่องยนต์เรือ การใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ และการส่งเสียงดังของนักท่องเที่ยว

สำหรับโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการล่า โทษสำหรับสัตว์ป่าสงวนคือ จำคุก 3-15 ปี ปรับ สามแสน - หนึ่งล้าห้าแสนบาท และ ในกรณีครอบครอง มาตรา ๑๗ ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่า โทษครอบครองคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท

ทั้งนี้ขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่และกลุ่มผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นเหตุการณ์หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขอให้แจ้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อจะได้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

สำหรับ วาฬบรูด้า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล หายใจด้วยปอด เป็นวาฬชนิดที่ไม่มีฟัน แต่มีซี่กรองอาหาร มีลักษณะเด่น คือ มีสันนูน 3 สันบนส่วนหัว ผิวหนังเรียบ สีเทาดำ ท้องสีอ่อนหรือสีชมพู ขนาดโตเต็มวัยมีความยาวประมาณ 14-15 เมตร น้ำหนักประมาณ 20 ตัน ให้ลูกครั้งละ 1 ตัว ทุกๆ 2 ปี

ปัจจุบันวาฬบรูด้าได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์สงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ในพื้นที่อ่าวไทยมีประชากรวาฬบรูด้าประมาณ 50 ตัว จากการสำรวจในแต่ละวัน อาจพบได้ตั้งแต่ 1 ตัว หรือมากถึง 10 ตัว ขึ้นกับปริมาณของปลาที่เป็นอาหาร

ภาพ : ไชยวัฒน์ สาดแย้ม