posttoday

ไม่ใช่สายวิทย์-คณิตก็เป็นหมอได้! ศิริราชเพิ่มโอกาสคนอยากเรียนแพทย์

14 ตุลาคม 2562

รองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ไขความกระจ่างแนวคิดรับนักศึกษาแพทย์จากผู้ที่ไม่ได้เรียนสายตรง

รองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ไขความกระจ่างแนวคิดรับนักศึกษาแพทย์จากผู้ที่ไม่ได้เรียนสายตรง

*************************

โดย…รัชพล ธนศุทธิสกุล

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อยากจะเพิ่มให้นักศึกษาแพทย์มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อสร้างความหลากหลายและคัดบุคลากรที่มีใจรัก ซึ่งเพิ่มให้คนที่จบนอกสาขาวิชาและคนที่เก่งถนัดในเรื่องดนตรีและกีฬา มีโอกาสสอบเป็นหมอได้

โดยจะเปิดรับคัดเลือกเรียนแพทย์ทั้งหมดในการสอบ TCAS ประจำปี 2563 เพิ่มเติมจากแต่เด็กม.6 จบตรงสายและเด็กที่ได้จากโครงการโอลิมปิกวิชาการซึ่งจะเป็นเด็กที่เก่งทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

“เราก็มีความรู้สึกว่าถ้าเราทดลองรับคนที่เขามีความเป็นผู้ใหญ่กว่าเขาและมุ่งมั่นจะเป็นหมอจริง การเปิดโอกาสให้เขามาเรียนแพทย์ ความเป็นผู้ใหญ่ของนักเรียนกลุ่มนี้อาจจะมาช่วยผสมผสานให้กลมกล่อมขึ้นแก่เด็กนักเรียน” รองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล “นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ” กล่าวเริ่มต้นการเปิดอุโมงค์ใหม่ในศาสตร์ของการรักษา

ไม่ใช่สายวิทย์-คณิตก็เป็นหมอได้! ศิริราชเพิ่มโอกาสคนอยากเรียนแพทย์

ลดหมอเรียนแล้วทุกข์

นพ.รุ่งนิรันดร์ บอกว่าโครงการเกิดดังกล่าวที่เกิดขึ้นมาจากกรรมการประจำคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชร่วมกันพิจารณาจากการเล็งเห็นประเด็นความหลากหลายของผู้เรียนและความเป็นผู้ใหญ่ของผู้เรียนแพทย์นั้นยังสามารถเติมให้ดีขึ้นได้อีก

"ปัจจุบันจะพบว่ามีนักเรียนที่เข้ามาเรียนแพทย์หลังจบม.ปลายด้วยเหตุผลต่างๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ได้อยากเรียนแพทย์ แต่เมื่อเรียนเก่งหัวกะทิสังคมมักนำให้เข้ามาเรียนแพทย์  นักเรียนกลุ่มนี้เมื่อเรียนแล้วความอยากเรียนยิ่งน้อยลง และมันก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เรียนเขามีความทุกข์ในการเรียน"

นพ.รุ่งนิรันดร์ ระบุอีกว่า แนวคิดดังกล่าวที่จะเปิดทดลองรับนักศึกษาแพทย์ในการสอบ TCAS รอบ 2 หรือ รอบโควต้าประจำปี 2563 ที่จะไม่เน้นวิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือชีววิทยา ซึ่งพิเศษเพิ่มเติมกว่าปีอื่นๆ   

“เราชื่อว่าจริงๆ แล้วแพทย์ทั้งมีทั้งศาสตร์และศิลป์ และเมื่อนักเรียนที่มีความหลากหลายมาอยู่ร่วมกันเราเชื่อว่าเขาน่าจะได้แชร์ประสบการณ์และเมื่อประสบการณ์แตกต่างกันน่าจะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ ”   

ไม่ใช่สายวิทย์-คณิตก็เป็นหมอได้! ศิริราชเพิ่มโอกาสคนอยากเรียนแพทย์

คุณสมบัติ ‘หมอ’ สายใหม่

เกณฑ์ของผู้ที่จะเข้าสมัครเรียนแพทย์ในโควต้า TCAS รอบ 2 หรือรอบโควต้า แบ่งออกได้ 2 กลุ่ม

1.กรณีบุคคลทั่วไปผู้ที่จบปริญญาตรี (ไม่จำกัดสาขา) และมีเกรดไม่น้อยกว่า 3.50 และอายุไม่เกิน 35 ปี นับตั้งแต่ถึงวันที่เปิดภาคการศึกษา 2563 ซึ่งจะเปิดรับจำนวน 4 คน

2.กรณีเยาวชนที่มีความสามารถด้านกีฬา 22 ชนิด เช่น แบดมินตัน ฟุตบอล กรีฑา ฯลฯ และเชี่ยวชาญด้านดนตรีสร้างผลงานให้กับตัวเองในระดับนานาชาติ มีโอกาสศึกษาต่อทางด้านวิชาแพทย์ เพียงมีเกรดเฉลี่ย 3.00 โดยจะเปิดรับในจำนวน 2 คน

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขที่สำคัญเมื่อผู้ประสงค์เรียนแพทย์มีคุณสมบัติครบ ยังต้องผ่านการสอบ 7 วิชาสามัญ และวิชาเฉพาะของ กสพท.(วิชาความถนัดแพทย์)

“เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจ ความทุ่มเท เห็นความถนัดและความสามารถที่เหมาะสมจะเรียนแพทย์จริง เพื่อให้เรามันใจจริงว่าเขาตั้งใจที่จะเรียนแพทย์และก็จะเรียบจบไปเป็นแพทย์ทีดีที่ไม่ใช่แค่เก่ง แต่สุจริต มีวินัย มีความอดทน มีความรับผิดชอบ”

ไม่ใช่สายวิทย์-คณิตก็เป็นหมอได้! ศิริราชเพิ่มโอกาสคนอยากเรียนแพทย์

อเมริกาก็ใช้ ‘ไร้กังวล’

นพ.รุ่งนิรันดร์ ตอบว่าไม่ต้องกังวลสำหรับคำถามที่หลายๆ คนอาจรู้สึกกับแพทย์ในรูปแบบนี้เก่งหรือไม่? เพราะเมื่อ 4 ปี ก่อนทางศิริราชเคยมีการรับนักเรียนพิเศษคล้ายกับกรณีที่จะเปิดรับในปีหน้า ซึ่งได้ผลสรุปที่น่าพอใจของความหลากหลายในการเรียน

หรืออย่างหลายๆ เคสที่ผ่านมาของการส่งอาจารย์ในวิชาสาขาอื่นมาเรียนแพทย์เพื่อไปเป็นอาจารย์ อาจารย์เหล่านี้ก็กลมกลืนไปกับนักเรียนแพทย์ภาคปกติ และก็จบกลับมาไปเป็นอาจารย์แพทย์ของสถาบันนั้นๆ

“ศิริราชเราเป็นสาบันหลักในเรื่องการเผยแพร่ ก็จะมีบางคณะแพทย์ที่เขาขาดแคลนอาจารย์ที่เป็นแพทย์ ปีละคนถึงสองคน เขาก็ติดต่อมาของความร่วมมือระหว่างสถาบัน เราพิจารณาคุณสมบัติแล้วไม่คัดข้อง เราก็รับเข้ามาเรียนแพทย์ ตัวอย่างเช่น อาจารย์ของทางคณะทันตแพทย์ อยากให้อาจารย์ท่านนี้เป็นแพทย์ด้วยเพราะจะไปสอนลงลึกในบางประเด็น”

ทั้งนี้ นพ.รุ่งนิรันดร์ ยืนยันเพิ่มเติมให้คลายความกังวลอีกว่า รูปแบบดังกล่าวในการผลิตแพทย์ที่จะเกิดขึ้นนี้ เป็นไปลักษณะเดียวกันที่ใช้ในการเรียนแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย    

ไม่ใช่สายวิทย์-คณิตก็เป็นหมอได้! ศิริราชเพิ่มโอกาสคนอยากเรียนแพทย์

จบกี่ปี…อยู่ที่พื้นฐาน

ถึงตรงนี้มีความสงสัยในเรื่องของหลักสูตรการเรียน ซึ่งรองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลก็ให้ความกระจ่างเป็นอย่างที่ทราบกันดีมีบ้างที่เรียนในตัวหน่วยกิตที่เหมือนกัน และซึ่งหลักสูตรของแพทย์ก็ไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องนี้

“แล้วแต่ว่าจบอะไรมา พิจารณาเป็นรายบุคคล” เขากล่าว

หมายความว่าถ้าจบทางด้านสายวิทย์-คณิตมาแล้วบางรายวิชาที่เคยเรียนมานักศึกษาที่จะเรียนแพทย์ในกรณีนี้สามารถ

นำวิชาเทียบกับรายวิชาในหลักสูตรแพทย์ได้ โดยวิชานั้นก็ไม่จำเป็นต้องเรียนทำให้เขาอาจจะประหยัดเวลาไปได้บางส่วน

“แต่ถ้าเรียนมาไม่ตรงก็เรียนเหมือนเด็กทั่วไป เรียนรวมกันไปเลยร่วมกันจนจบหลักสูตรทั้งหมด แต่ถ้าถามว่าเขาจะต่อยอดในทางความถนัดกรณีนักดนตรีและนักกีฬาไปเฉพาะทาง ซึ่งอาจจะเก่งเพิ่มก็สุดแล้วแต่เขา” นพ.รุ่งนิรันดร์ สรุปเรื่องเรียนแพทย์ไม่ต้องจบสายวิทย์-คณิตก็เป็นหมอได้

“หลักเลยคือเราเปิดโอกาสให้เขามาเรียน เขาพิสูจน์ให้เห็น มีคุณสมบัติเรียนแพทย์ต่อได้ เราก็ขอคุณสมบัติเพิ่มเติมดูความตั้งใจ ดูความมานะลงทุนลงแรงไปสอบและเรามาคุยสัมภาษณ์กัน”  

ไม่ใช่สายวิทย์-คณิตก็เป็นหมอได้! ศิริราชเพิ่มโอกาสคนอยากเรียนแพทย์