posttoday

ภรรยาอับดุลเลาะห์ร้องดีเอสไอจี้สอบสวนหาผู้ทำให้สามีเสียชีวิต

09 ตุลาคม 2562

ภรรยาอับดุลเลาะห์ ร้องดีเอสไอรับคดีสามีเสียชีวิตในค่ายอิงคยุทธบริหารเป็นคดีพิเศษส่งผลชันสูตรของแพทย์เป็นหลักฐานเพิ่มเติมเชื่อสมองไม่ตายเอง

ภรรยาอับดุลเลาะห์ ร้องดีเอสไอรับคดีสามีเสียชีวิตในค่ายอิงคยุทธบริหารเป็นคดีพิเศษส่งผลชันสูตรของแพทย์เป็นหลักฐานเพิ่มเติมเชื่อสมองไม่ตายเอง

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นำนางซูไมยะห์ มิงกะ อายุ 30 ปี ภรรยาของนายอับดุลเลาะห์ แ และญาติเข้ายื่นหนังสือต่อ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษเพื่อติดตามความคืบหน้าการเสียชีวิตระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเป็นผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เมื่อเย็นวันที่ 20 ก.ค.62 ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย.62เคยมายื่นหนังสือร้องทุกข์กับดีเอสไอเพื่อขอให้สอบสวนหาตัวเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดมาลงโทษ แต่คดีไม่มีความคืบหน้าจึงนำหลักฐานซึ่งเป็นเอกสารทางการแพทย์ของโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธ และโรงพยาบาลสงขลานัครินทร์ มามอบให้เพิ่มเติม แม้ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลจะออกมารับรองการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะว่า เกิดจากภาวะสมองขาดอ๊อกซิเจน และขาดเลือด แต่ทางครอบครัวก็ยังข้องใจว่านายอับดุลเลาะ อาจถูกทำทรมานจากเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัว เพราะก่อนหน้านี้นายอับดุลเลาะไม่มีโรคประจำตัวรวมถึงไม่มีประวัติการรักษาตัว อีกทั้งก่อนหน้านั้นมีการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธ ซึ่งแพทย์ระบุว่าสุขภาพแข็งแรง แต่ภายหลัง13 ชม.นับแต่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่แจ้งให้ญาติรับทราบว่านายอับดุลเลาะห์ เกิดอุบัติเหตุหกล้ม และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลค่ายฯ และถูกส่งต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ในเวลาต่อมา

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ล่าสุดญาติได้รับผลการชันสูตรสาเหตุของการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะห์ เนื่องจากขาดอากาศไปเลี้ยงสมอง ซึ่งสิ่งที่ญาติต้องการทราบคือ ใครคือผู้ที่ทำให้ตาย และในช่วงเวลาที่ผ่านมากว่า 1 เดือนไม่พบว่าฝ่ายเจ้าหน้า ที่รัฐได้ดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุการเสียชีวิต หรือหาตัวผู้กระทำผิดได้ มีเพียงศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาการเสียชีวิตจำนวน 4 แสนบาท จึงอยากให้ดีเอสไอรับคดีไว้เพื่อสอบสวน โดยเชื่อว่าหากตรวจสอบอย่างจริงจังก็จะมีคำตอบให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต เพราะขนาดคดีฆาตกรรมนายพอละจี หรือ”บิลลี่” ที่ผ่านไปนานถึง 5 ปี คดีมีความยากลำบากกว่า ดีเอสไอก็สามารถค้นหาหลักฐาน และศพที่ถูกทำลายได้

"ภาคใต้มีปัญหารุนแรงมามากพอแล้ว ไม่ควรให้กรณีของอับดุลเลาะมาซ้ำเติมความรุนแรง อับดุลเลาะเป็นคนที่ทำงานเพื่อสังคม รวมถึงมีการสอนเด็ก และการนำสวดละหมาด คนแบบนี้ควรได้รับการปกป้อง สนับสนุน ไม่ควรถูกตกเป็นผู้ต้องสงสัยหรือแง่ลบ" นายสุรพงษ์ กล่าว

ด้านนายมูฮัมมัดรอฮมัด มามุ ญาตินายอับดุลเลาะ กล่าวว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตในค่ายอิงคยุทธบริหารแล้ว 6 ราย จึงอยากให้กรณีนายอับดุลเลาะเป็นกรณีสุดท้าย และขอเรียกร้องให้ทหารลดการใช้อำนาจและกฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่มักจะอ้างกฎอัยการศึกเชิญตัวเข้าไปพูดคุย โดยไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาตั้งแต่แรก จากนั้นหากมีการฟ้องคดีส่วนใหญ่ก็จะมีการสั่งไม่ฟ้อง และยกฟ้อง โดยที่ชาวบ้านไม่สามารถตรวจสอบอำนาจรัฐได้

ด้าน ร.ต.อ.ปิยะ กล่าวว่า ดีเอสไอได้รับเรื่องเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เมื่อได้ข้อเท็จจริงมากเพียงพอจะเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจการสอบสวนของดีเอสไอ และเป็นคดีพิเศษหรือไม่