posttoday

"ไบโอไทย"จับตา4กระทรวง แบน-ไม่แบน3สารพิษ

04 ตุลาคม 2562

มูลนิธิชีววิถีชี้ในโครงสร้างคณะกรรมการวัตถุอันตรายมี  4 กระทรวงสำคัญกับการแบน-ไม่แบนสารเคมีพิษ

มูลนิธิชีววิถีชี้ในโครงสร้างคณะกรรมการวัตถุอันตรายมี  4 กระทรวงสำคัญกับการแบน-ไม่แบนสารเคมีพิษ

มูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ได้โพสต์รายชื่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย 27 คน พร้อมระบุข้อความว่า ภายใต้บทบาทหน้าที่และโครงสร้างของคณะกรรมการวัตถุอันตรายฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ตุลาคม 2562 นั้น มีกระทรวงที่เกี่ยวข้องสำคัญกับการแบนหรือไม่แบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยง 4 กระทรวงเท่านั้น คือ

1. กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการ และเพิ่งประกาศชัดเจนแล้วว่าจะสนับสนุนการแบนสารพิษดังกล่าวเพียงแต่ให้กระทรวงเกษตรฯเสนอเรื่องมายังคณะกรรมการ

2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการ และได้มอบอำนาจให้นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นผู้กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานตรงที่มีหน้าที่ดูแลการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ขณะนี้นายเฉลิมชัย ได้ประกาศแล้วว่าเขาเองไม่สนับสนุนการใช้สารพิษทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว แต่ก็สร้างความคลางแคลงใจต่อประชาชน เมื่อมีหนังสือทางการของกระทรวงเกษตรฯที่ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่านายเฉลิมชัยสนับสนุนให้มีการจำกัดการใช้ แทนที่จะสนับสนุนบทบาทของนางมนัญญาซึ่งแสดงบทบาทอย่างชัดเจนว่าต้องการแบนสารพิษดังกล่าวให้บรรลุผลภายในสิ้นปี ตามมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน และเส้นตายที่กระทรวงสาธารณสุขในสมัย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร และคณะทำงาน 4 กระทรวงหลัก ตั้งแต่ต้นปี 2560

3. กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งประกาศว่าการแบนสารพิษเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นนโยบายสำคัญของพรรคภูมิใจไทย โดยประกาศว่า หากอธิบดีหรือตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุขไม่ลงมติไปตามนโยบายของเขา "เดี๋ยวเจอกัน"

4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการที่เป็นคนรุ่นใหม่อย่างนายวราวุธ ศิลปอาชา ซึ่งได้แถลงแล้วว่าเขาสนับสนุนให้มีการแบนสารพิษร้ายแรง ทั้งนี้ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีกรมควบคุมมลพิษซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วย เรื่องสารพิษในการเกษตรแม้จะไม่เกี่ยวโดยตรง แต่เมื่อเกิดปัญหาตกค้างในสิ่งแวดล้อมก็เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงนี้ด้วย ดังรายงานของมหาวิทยาลัยนเรศวรและอีกหลายสถาบันที่พบว่าการตกค้างของสารพิษในบริเวณแม่น้ำและสิ่งมีชีวิตทั้งหอย ปู ปลา กบ มีการปนเปื้อนสารพิษเกินค่ามาตรฐาน

ควรทราบว่า แนวปฏิบัติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายนั้น มีการลงมติไปในทิศทางที่หน่วยงานหลักซึ่งกำกับดูแลวัตถุอันตรายนั้นๆเป็นสำคัญ ดังนั้นหากสิ่งที่รัฐมนตรีทั้ง 4 คน ดำเนินการให้เป็นไปตามสิ่งที่พวกเขาประกาศต่อสาธารณะ การแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาแต่ประการใด ?

ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่ารัฐมนตรี ซึ่งมาจากนักการเมืองเหล่านี้ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามสิ่งที่เขาพูดหรือไม่จากผลการลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งจะมาถึงในเร็วๆนี้

โปรดจับตา และร่วมกันเรียกร้องให้การลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นไปอย่างเปิดเผยและโปร่งใส !

"ไบโอไทย"จับตา4กระทรวง แบน-ไม่แบน3สารพิษ