posttoday

ชุมนุมพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่ในงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย 2562

20 กันยายน 2562

สมาน สุดโต

โดย... สมาน สุดโต

**********************************

งานชุมนุมพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่ในประเทศ เกิดขึ้นแล้วที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร เมื่อกรมศิลปากรจัดงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย 2562 หรือ Thailand Museum Expo 2019 ขึ้นระหว่างวันที่ 19 กันยายน ถึง 22 กันยายน 2562 เนื่องจากวันที่ 19 กันยายน ทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย กรมศิลปากร จึงถือเป็นภารกิจจัดงานที่ระลึก โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ประชาคมพิพิธภัณฑ์ไทย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดของสภาการพิพิธภัณฑ์ ระหว่างชาติ หรือICOM ที่ว่าพิพิธภัณฑ์ เสมือนศูนย์กลางวัฒนธรรมสัมพันธ์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสู่อนาคต

หลังจากพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดยนายกฤษศญพงศ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติจากวงการพิพิธภัณฑ์ และสื่อมวลชนแล้ว ทุกคนต่างแยกย้ายกันชมบูธพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มากกว่า 50 บูธภายในเต็นท์ปรับอากาศขนาดใหญ่ ซึ่งรูปแบบจัดงาน จัดขึ้นตามแนวคิดจัดนิทรรศการ ที่เรียกว่า เนชั่นนาล เอกษฮีบิชั่น(National Exhibition) ณ ท้องสนามหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พุทธศักราช 2425 สมัยนั้นจัดแสดงสินค้าหัตถกรรมและสินค้าพื้นเมืองเนื่องในโอกาสสมโภชพระนคร (กรุงรัตนโกสินทร์) สถาปนาครบ 100 ปี โดยแยกจัดแสดงเป็นห้อง ๆตามประภทวัตถุสิ่งของ แต่อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน

สิ่งแรกที่สะดุดตาเกือบทุกคนที่ชมงานคือ ฉากไม้ประดับมุกภาพพระรัตนตรัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 (200 ปีมาแล้ว) เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ท่านให้ข้อมูลว่า ฉากไม้ ประดับมุกแสดงภาพพระพุทธเจ้า ประทานเทศนาแก่พระอสีติมหาสาวก ที่ฐานบัลลังก์ประดับบทสวด สรรเสริญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (เป็น) อักษรขอม จึงสะท้อนว่าฉากนี้แสดงภาพพระรัตนตรัย โดยพระธรรมนั้นแสดงด้วยยันต์เฑาะว์ในเปลวไฟ บนพระหัตถ์ขวา ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ชุมนุมพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่ในงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย 2562

ติดกับฉากไม้ประดับมุก เป็นในโพธิ์ จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา ประเทศอินเดีย ข้อมูลที่จัดไว้บอกว่า ใบพระศรีมหาโพธิ์ ปิดทอง (จาก) ต้นที่เมืองพุทธคยา สมัยรัตนโกสินทร์ ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 หรือ 150 ปีมาแล้ว เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร

ที่มาของใบพระศรีมหาโพธิ์ (ปิดทอง) มีว่า ในพุทธศักราช 2407ดอกเตอร์ยอนสไกว(Dr.John Squire) นำกิ่ง ใบ พร้อมผลพระศรีมหาโพธิ์และวัตถุ เนื่องในพระพุทธศาสนาจากเมืองพุทธคยา อินเดีย มาทูลเกล้าถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเพาะเป็นต้นกล้าและพระราขทานไปปลูกในพระอารามหลวงสำคัญ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไทยได้พันธ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา และได้เห็นโพธิ์จากต้นที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ว่ามีลักษณะอย่างไร

ชุมนุมพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่ในงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย 2562

ถัดจากนั้น เป็นการแสดงรถยนตร์ ของเจฎาเทคนิคมิวเซียม โดยนำรถยนต์ BMW Isetta 300 ขนาดจิ๋วแต่ใช้งานได้มาให้ชม เพราะมีภาพออกงานต่างๆ ใน กรุงเทพมหานคร มาแสดงด้วย ในส่วนวัตถุจากกระทรวงการคลัง ตั้งแสดงในงานนี้ไดแก่ เหรียญที่ระลึกราชทูตไทย เข้าเฝ้าพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ศิลปะต่างประเทศ พุทธศักราช 2404 ซึ่งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ รับมาจาก กระทรวงการคลัง

ชุมนุมพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่ในงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย 2562

ภูมิหลังของเหรียญที่ระลึกได้แก่ พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (แพ บุนนาค) เป็นหัวหน้าคณะราชทูต ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส โดยเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลบรรณาการพระเจ้าจักรพรรดิ์นโปเลียนที่ 3 และจักรพรรดินีเออเชนี ณ พระราชวังฟงแตนโบล เหรียญที่ระลึกนี้ ผลิตโดยโรงกษาปน์ กรุงปารีส

ชุมนุมพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่ในงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย 2562

พิพิธฑภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย (Thai Press Museum) เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ตื่นตาตื่นใจ เพราะนำหนังสือพิมพ์ในอดีตมาแสดง รวมทั้งหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) ฉบับแรกที่วางตลาด 1 สิงหาคม 2489 หรือ 73 ปีมาแล้ว อาจารย์พลาดิสัย สิทธิธัญญกิจ นักประวัติศาสตร์ และนักเขียน ที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ ได้นำหนังสือพิมพ์อิสระเสรีภาพ ที่มีภาพแท่นพิมพ์ถูกทุบพังเสียหายใช้ไม่ได้มาให้ดูด้วย

ชุมนุมพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่ในงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย 2562

ชุมนุมพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่ในงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย 2562

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ มีนายประยูร ชื่นสวัสดิ เป็นบรรณาธิการ เขียนข่าวโจมตีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นทั้งบทความและการ์ตูนล้อการเมือง โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพล แต่แท่นพิมพ์ถูกทุบ บก.ถูกจับติดคุกข้อหาอันธพาล ต่อมาต้องย้ายที่พิมพ์ไปจังหวัดเชียงใหม่ เรียกว่าเสรีภาพสื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ถูกคุกคามหนักมาก ในยุคเผด็จการครั้งนั้น เมื่อไปเยือนบูธสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ ก็พบเรื่องเก่าๆ เช่นนิทรรศการเรื่อง
ประวัติศาสตร์จากฟิล์มกระจก เป็นต้น

แวะพิพิธภัณฑ์ศิริราช จะพบกับเครื่องช่วยหายใจ สำหรับเด็ก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดให้ซื้อไว้ช่วยเหลือเด็กที่ป่วยเป็นโรคโปลิโอ เมื่อ พ.ศ. 2495 ซึ่งเป็นปีที่โรคโปลิโอ หรือโรคไขสันหลังอักเสบระบาดรุนแรงในประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค จึงมีเด็กจำนวนมากเจ็บป่วย บางรายถึงแก่ชีวิตและทุพลลภาพ

ท่ามกลางภาวะแห่งความสูญเสีย พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานเงินจัดซื้อปอดเหล็ก (Iron Lung)ให้โรงพยาบาลศิริราช เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยหนักที่หายใจลำบากปัจจุบันไม่ได้ใช้ เพราะมีวัคซีน มาช่วยป้องกันและรักษาโรคได้แล้ว แต่ เครื่องนี้ยังเป็นเครืองที่มีคุณค่ามหาศาลต่อปวงชนชาวไทย อันแสดงพระมหากรุณาธิคุณ ต่อพสกนิกร ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อย่างหาที่สุดมิได้

ใกล้ๆ กัน เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของ ดร. อุดม สมพร จากคูบัว จ.ราชบุรี ที่จำลองชีวิตความเป็นอยู่ของชาวยวน โยนก หรือไทยยวน ให้ได้ศึกษากันว่าอดีตนั้นเขาอยู่กันอย่างไร ดร.อุดมใช้เวลาสะสม และศึกษามานานกวว่า 20 ปี จำลองชีวิตความเป็นอยู่ชาวยวน หรือโยนก ที่อยพ จากเชียงแสน มาสู่ภาคกลางเพื่อทำมาหากิน โดยสร้างรูป ตา ยาย และเด็กๆ เหมือนคนจริงๆ ด้วยไฟเบอร์ นั่งในบ้านที่มีฝาเป็นไม้ไผ่ขัดแตะ มีมุ้งที่ตลบชายขึ้น ด้านหน้าของ ตาและยาย มีเชี่ยนหมากตั้งไว้ท่านที่มีอายุไล่เลี่ยกับ ดร.อุดม (78 ปี) เห็นแล้วก็ต้องนึกถึงอดีตที่ผ่านมาส่วนอนุชนต้องศึกษา ว่าคนรุ่นเก่า เคยอยู่กันอย่างไร

ชุมนุมพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่ในงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ไทย 2562

ที่เขียนเล่ามาทั้งหมดเพื่อเชิญชวนท่านผู้อ่านได้เสียสละเวลาไปเยี่ยมชมก่อนเขาจะลาโรง วันที่ 22 กันยายน นี้ ขอย้ำว่าหาที่ไหนไม่ได้แล้ว 1 บูธ 50 พิพิธภัณฑ์ นอกจากงาน ประชาคมพิพิธภัณฑ์ไทย เท่านั้น