posttoday

ฮือค้านโครงการสร้างเขื่อน-อ่างเก็บน้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำภาชี

19 กันยายน 2562

ชาวบ้านสวนผึ้งยื่นหนังสือค้านกรมชลฯดันโครงการสร้างเขื่อน-อ่างเก็บน้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำภาชีชี้กระทบป่าต้นน้ำ-ชแหล่งนกเงือก

ชาวบ้านสวนผึ้งยื่นหนังสือค้านกรมชลฯดันโครงการสร้างเขื่อน-อ่างเก็บน้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำภาชีชี้กระทบป่าต้นน้ำ-ชแหล่งนกเงือก

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ชาวบ้านจากบ้านพุระกำ และบ้านหนองตาดั้ง ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อขอให้มีการทบทวนโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองตาตั้ง หรือ เขื่อนพุระกำ ที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำภาชี และเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าแก่งกระจาน ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโก

นายเปเล่ กัวฟู ตัวแทนชาวบ้านพุระกำ เปิดเผยว่า ในปี 2554 กรมชลประทานเคยเข้ามาจัดเวทีประชาคม โดยทั้งชาวบ้านและสภาอบต.ตะนาวศรีได้ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยให้มีก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่หัวงานเขื่อนและพื้นที่กักเก็บน้ำอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ซึ่งจะกระทบต่อป่าต้นน้ำรวมกว่า 2,000 ไร่ และชุมชนชาวกะเหรี่ยงเกือบ 100 ครัวเรือน รวมถึงที่ทำกินอีกว่า 400 ไร่ ต้องถูกอพยพโยกย้าย

“ชุมชนของเราอยู่กันมาตั้งแต่ก่อนประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีอาชีพทำไร่ทำนา กรมชลประทานเคยมาสำรวจแล้วตั้งแต่ปี 2554 ทุกคนไม่มีใครเห็นด้วย แต่อยู่ๆ โครงการถูกผลักดันให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งที่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ชาวบ้านก็ช่วยกันรักษาต้นไม้ รักษาป่า หากย้ายชาวบ้านทั้งหมู่บ้านไปเราก็ไม่รู้ว่าที่จัดสรรจะทำกินได้หรือไม่ จะมีต้นไม้ใหญ่ มีต้นน้ำสมบูรณ์เหมือนที่นี่หรือไม่ เราจึงอยากให้รัฐมีการทบทวนหรือยกเลิกโครงการนี้” นายเปเล่

อย่างไรก็ตาม วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมมีมติให้ กรมชลประทานกลับไปศึกษาข้อมูลและประชุมรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่เพิ่มเติม ชาวบ้านคงต้องเตรียมตัวร่วมกันแสดงจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยให้มีการสรางเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำ และต้องติดตามการดำเนินการโครงการนี้เพื่อไม่ให้นำความเห็นของชาวบ้านไปบิดเบือน

สำหรับ ผืนป่าพุระกำถือเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำลำภาชี เป็นแหล่งที่อยู่ของนกเงือกที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด มีการพบรังและการขยายพันธุ์ รวมทั้งเป็นเส้นทางอพยพหากินของนกเงือกที่มีความเชื่อมโยงกับผืนป่าเขาใหญ่ และผืนป่าทางภาคใต้ไปจรดป่าในเทือกเขาบูโดและป่าฮาลาบาลาที่เป็นแหล่งนกเงือกสำคัญของภูมิภาค