posttoday

เปิดใจแอดมิน “เบิกไพร” เพจสหายการท่องป่า ครูหนุ่มผู้นำความรู้จากป่ามาสู่เมือง

08 กันยายน 2562

พูดคุยกับครูหนุ่มวัย 29 ปี จ.ชัยภูมิ ที่หลงรักการล่องไพรเดินป่าชมธรรมชาติจนชำนาญ ก่อนจะรวบรวมองค์ความรู้ที่มีมาถ่ายทอดวิธีการเอาตัวรอดจากป่าสู่เมือง

พูดคุยกับครูหนุ่มวัย 29 ปี จ.ชัยภูมิ ที่หลงรักการล่องไพรเดินป่าชมธรรมชาติจนชำนาญ ก่อนจะรวบรวมองค์ความรู้ที่มีมาถ่ายทอดวิธีการเอาตัวรอดจากป่าสู่เมือง

**********************

โดย...รัชพล ธนศุทธิสกุล

จากเด็กบ้านติดภูเขาใช้ชีวิตอยู่กับป่าจนซึมลึกในลมหายใจ พอโตขึ้นเป็นเรือจ้างจึงไม่อาจพลาดที่จะส่งต่อองค์ความรู้ที่มีเป็นประโยชน์แก่สังคม

“อิสรานุวัฒน์ โนภูเขียว” เริ่มจากเด็กนักเรียนที่รักเพื่อยามวิกฤตหลงป่า ก่อนจะถ่ายมาสู่ผู้คนในสังคมผ่าน เพจ “เบิกไพร” เมื่อพบว่าภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงกับธรรมชาติของการเอาชีวิตรอดในป่า อย่างกรณีน้ำท่วมหรือโคลนถล่ม วิชาชีวิตป่าสามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้นกว่า 1 เท่าตัว

“คนที่เก่งกว่าผมก็มีนะ เพียงแต่ว่าเราเป็นครูจึงถ่ายทอดออกมาได้ดีกว่า และด้วยความเป็นครูมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้จึงอดไม่ได้ที่จะนำความรู้มาเผยแพร่” ครูหนุ่มกล่าวก่อนจะพาลัดเลาะล่องเบิกไพร

เปิดใจแอดมิน “เบิกไพร” เพจสหายการท่องป่า ครูหนุ่มผู้นำความรู้จากป่ามาสู่เมือง

ลูกไพรใฝ่ศึกษา

“พื้นฐานผมอยู่กับป่ามาตั้งแต่เด็กๆ จ.ชัยภูมิ จะเป็นพื้นที่เขาขึ้นล้อมรอบ ชาวบ้านสมัยก่อนจะนิยมเข้าป่าขึ้นเขาไปหาหน่อไม้บ้าง หาของป่าบ้าง เราก็ได้วิชามา”

เพจ ‘เบิกไพร’ จึงก่อเป็นการผสานองค์ความรู้ของการเป็นครูและคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับป่า มาเผยแพร่เป็นวิทยาทานกับผู้คนในสังคมและแลกเปลี่ยนความรู้

“โตขึ้นมาก็ท่องเที่ยวนอนในป่าคนเดียวช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเป็นครูตามที่แม่อยากให้เป็น ทีนี้เรียนๆ ไป เบื่อเจอกับผู้คน ก็ไปเที่ยวป่าจากที่หยุดไปตอนที่พ่อเสียชีวิต ความรู้สึกเก่าๆ ที่เราเคยเป็นเด็กบ้านติดป่า อยู่เยื้องข้างเขาหมู่บ้านมันก็กลับมา”

ลูกไพรหนุ่มเล่าว่ากิจวัตรประจำวันของเขาเมื่อไหร่ที่หยุดยาวก็จะเข้าป่าชื่นชมธรรมชาติของป่าแถบพื้นที่ ทำให้ได้พบปะกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ถ่ายทอดความชำนาญในการเอาชีวิตรอดในป่า เช่น สัญญาณป่า วิธีป้องกันการหลงป่า การหาแหล่งน้ำหรืออาหาร เป็นต้น

และด้วยสภาพภูมิประเทศไทยบ่อยครั้งที่ได้รับผลกระทบจากทั้งอุทกภัยและวาตภัย ที่มักป่าเป็นส่วนเชื่อมโยงกันอยู่ด้วยเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ลูกไพรหนุ่มจึงเกิดคำถามถ้าเป็นตัวเองจะทำอย่างไรนอกจากการเตรียมการที่พร้อมนอกจากการฟังคำเตือนจากภาครัฐทำให้สามารถเอาชีวิตรอดและได้รับผลกระทบน้อยกว่ามาก จึงได้นำเอาประสบการณ์ส่วนตัวบวกเข้ากับหลักวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาขยายอธิบาย

โดยแรกเริ่มสอนเด็กๆ ให้นำไปบอกล่าวกับพ่อแม่ พร้อมกับเริ่มให้ความรู้ง่ายๆ เช่นเรื่องการเล่นน้ำตกเมื่อไหร่ฝนตกให้ขึ้นจากน้ำทันทีเพื่อเป็นการระวังน้ำป่า เพราะมวลน้ำที่อยู่บนเขาเวลาทะลักออกมาจะไหลบ่าในไม่กี่นาที หรือก่อนเกิดเหตุการณ์โคลนถล่ม จะมีสัญญาณเตือนคือป่าแตกเสียงดังครึกโครม กิ่งไม้หักลั่นเปรี๊ยะๆ การเดินป่าทำให้รู้สัญญาณเหล่านี้

“เมื่อเกิดภัยพิบัติมันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่คนเดียว แต่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง การป้องกันไว้ก่อนจะได้รับความปลอดภัยมากขึ้นเพราะหน่วยงานราชการไม่ได้ช่วยชีวิตเราแค่คนเดียว การที่เราไม่เตรียมพร้อมก็เท่ากับทิ้งโอกาสในการรอดชีวิตออกไป หากเราเตรียมพร้อมหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือก็มีโอกาสให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยคนอื่นเพิ่มมากขึ้น”

เปิดใจแอดมิน “เบิกไพร” เพจสหายการท่องป่า ครูหนุ่มผู้นำความรู้จากป่ามาสู่เมือง

เปิดใจแอดมิน “เบิกไพร” เพจสหายการท่องป่า ครูหนุ่มผู้นำความรู้จากป่ามาสู่เมือง

แสงสว่าง-น้ำ-การขับถ่าย

นอกจากอาหารแล้วยังมีอีก 3 สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ น้ำ แสงสว่าง และการขับถ่าย คนเราขาดน้ำได้นานกว่าขาดอาหารขอแค่มีน้ำสะอาดเราจะไม่ตายอย่างน้อยก็ 2 สัปดาห์ แสงสว่างและการขับถ่ายคือสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เช่นกันเพราะกำลังใจเราเกิดจากการที่ตายังมองเห็นได้ เมื่อไหร่ที่มีแสงสว่างเราก็จะหวาดกลัวต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง และสิ่งที่คนที่ไปมองข้ามคือการขับถ่าย ในสถานการณ์ที่ต้องติดอยู่ในพื้นที่จำกัดหากขับถ่ายไม่ถูกสุขลักษณะจะนำมาซึ่งโรคที่เร่งการตายให้เกิดขึ้นได้เร็วยิ่งกว่าการอดอาหาร

การเอาชีวิตรอดในป่าหรือเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติ การเตรียมตัวมากเท่าไหร่ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตมากเท่านั้น อย่างในกรณีปัจจุบันเรื่อง “น้ำท่วม” เราสามารถเอาตัดรอดได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

1.เชื้อเพลิงและแสงสว่างเป็นสิ่งแรก เพราะเวลาที่น้ำท่วมไฟจะดับ ควรเรียนรู้การจะก่อไฟเพื่อทำอาหารจากกระดาษ ซึ่งให้นำกระดาษมาม้วนเป็นทรงกระบอกอัดให้แน่นแล้วมัดด้วยลวดหัวท้าย หากไม่มีลวดให้ปอกสายไฟมามัด (คล้ายท่อนซุง) จะทำให้ไฟค่อย ๆ ไหม้อย่างช้า ๆ และให้ความร้อนได้เป็นเวลานาน

นอกจากนี้ ยางในรถ เทียนไข แอลกอฮอล์ก้อน น้ำยาล้างเล็บ แอลกอฮอล์ล้างแผล ควรมองหาเป็นอันดับแรกเพื่อสร้างเปลวไฟ พร้อมกับ ไส้ในหมอน ไส้ผ้าห่ม ขาโต๊ะหรือเขียงไม้ก็ทำเป็นฟืนได้ ไขทุกอย่างเมื่อนำมารวมกับสิ่งของที่ติดไฟง่ายแล้วจะสามารถติดไฟและให้เปลวไฟที่ยาวนานขึ้น นำสีเทียนมาระบายกระดาษและจุดไฟ กระดาษนั้นจะไหม้ได้นานขึ้น หรือน้ำมันพืชเมื่อนำมาเติมใส่ขวดแก้วแล้วนำเศษผ้าฝ้ายมาทำเป็นไส้ก็สามารถจุดทำความร้อนกลายเป็นตะเกียงยุคโบราณ

และหากมีกิ่งไม้ที่เปียกให้เหลาผิวนอกออกเพื่อใช้ผิวด้านที่ยังแห้งอยู่ หรือเอาผ้าเช็ดเพื่อซับน้ำแล้วเก็บไว้กับตัวเพื่อให้ความร้อนจากร่างกายทำให้ไม้แห้งอีกทางหนึ่ง จากนั้นถ้ากำลังไฟแรงพอให้วางกิ่งไม้ไว้รอบกองไฟเพื่อให้ไฟค่อยไล่ความชื้น แต่อย่างว่างไว้ด้านบนเพราะจะทำให้น้ำจากกิ่งไม้หยดลงไปทำให้ไฟที่ก่อดับได้

2.น้ำ สิ่งจำเป็นที่สุดเพราะเราอดอาหารในนานกว่า 3 สัปดาห์ แต่ขาดน้ำได้เพียง 3 วัน มากกว่านั้นคือตาย แต่ในวันที่ 2 แม้เราจะยังไม่ตายแต่ประสิทธิภาพร่างกายมันก็ไม่ไหวแล้ว

วิธีการหาน้ำขั้นแรก คือหาน้ำจากน้ำที่ท่วม ให้พิจารณาเอามาจากน้ำไหล มากกว่าน้ำบริเวณที่หยุดนิ่งเพราะมีการสะสมของเชื้อโรค ในการตักน้ำนั้นให้กดปากขวดให้จมน้ำเนื่องจากผิวน้ำมีฝุ่นละอองเชื้อโรคที่ลอยอยู่ ให้กรองผ่านชั้นผ้า แล้วน้ำไป ‘ต้ม’ ให้สะอาด (ไม่ใช่ว่าน้ำที่ต้มแล้วจะสะอาดเพราะการต้มไม่ได้กำจัดตะกอนออกไป แต่มันก็ดีกว่าการที่ไม่ทำอะไรเลย) 5 - 10 นาทีเป็นต้นไป โดยให้นับ 1 ที่ตอนน้ำเดือดพล่านไม่ใช่ตอนที่เอาน้ำไปตั้งไฟ และทิ้งให้ตกตะกอนก่อน โดยนำไปดื่มแค่เพียงผิวบนหากน้ำนั้นขุ่นมาก

หรือมองหาภาชนะปากกว้างเช่น กะละมัง หม้อ เพื่อนำไปรองน้ำฝน หากหาไม่ได้ให้ใช้ขวดน้ำผ่าครึ่งไม่ให้ขาดออกจากกันแล้วแบะออก น้ำเหล่านี้สะอาดและดีกว่าน้ำที่ท่วมอยู่บนพื้นเป็นอย่างมาก ถ้าไม่มีภาชนะใด ๆ เลยให้หาเสื้อผ้ามากที่สุดมารอไว้ เมื่อฝนตกให้นำเสื้อเหล่านั้นไปชุบน้ำฝนที่ตกแล้วบิดใส่ขวดไว้ และหากมีเวลามากพอให้น้ำขวดเหล่านั้นดึงฉลากออกนำไปตากแดดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง วิธีนี้จะช่วยฆ่าเชื้อโรคในน้ำลงได้บ้าง

3.การขับถ่าย วิธีการขับถ่ายวิธีแรกคือให้ถ่ายลุงในถุงพลาสติกสีดำและวางในจุดที่เมื่อน้ำลดสามารถนำไปกำจัดได้ ไม่ควรทิ้งลงน้ำเพราะอาจก่อให้เกิดการระบาดของเชื้อโรค ถ้าจำเป็นให้ขว้างออกไปไกลที่สุด

สำหรับกรณีไม่มีถุงและหากต้องขับถ่ายในอาคารที่จำกัดให้เลือกบริเวณขับถ่ายเป็นจุดเดียวเพื่อลดโอกาสในการสัมผัส ถ้ามีกระดาษให้ขับถ่ายใส่กระดาษแล้วห่อ กระดาษจะดูดความชื้นจากผิวอุจจาระออกไป ถ้ามีแป้งหรือปูนขาวให้โรยทับ อาจทดแทนได้ด้วยดินจากกระถางดอกไม้หรือขี้เถ้าถ้ามี จุดประสงค์ของการกระทำนี้เพื่อลดการส่งกลิ่นและป้องกันแมลงวันมาตอมแล้วสัมผัสกับอาหารในภายหลังซึ่งจะก่อโรคต่อไป

เปิดใจแอดมิน “เบิกไพร” เพจสหายการท่องป่า ครูหนุ่มผู้นำความรู้จากป่ามาสู่เมือง

สติห้ามขาด

หัวใจหลักในการเอาตัวรอดที่สำคัญไม่แพ้สิ่งใดคือการตั้ง ‘สติ’

“พอขาดสติจะเกิดความกลัว มันทำให้ร่างกายเราสูบฉีด เผาผลาญพลังงานต่างๆ มากขึ้น ทำให้อ่อนแอลง มันเป็นพื้นฐานความกลัวเมื่อมีภัยของมนุษย์เราจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้หนีออกจากความกลัวนั้นให้เร็วที่สุด ทีนี้เมื่อพลังงานถูกนำไปใช้อย่าเร่งด่วน พอหยุดก็จะอ่อนแอลงทันที เราจึงต้องมีสติ มีแผนสำรองเสมอเพื่อนเตรียมการรับมือ คือการมีแผนการดีกว่าไม่มี แม้ว่าจะห่วยแตกแค่ไหน แต่การมีแผนการอยู่จะทำให้เรารู้ว่าเราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้”

หลักในการเอาตัวรอดที่ดีที่สุดไม่ใช้การหาเอาจากข้างหน้า หากแต่คือการเตรียมตัวพื้นฐานด้วยความเข้าใจพื้นฐานชีวิตรอดมนุษย์ จะเหมือนกับเรามีกระเป๋าฉุกเฉิน 1 ใบ ที่เกิดปุ๊บหยิบปั๊บเอาตัวรอดได้เลย

“เรื่องสติผมเองก็หลุดเมื่อเจอเหตุการณ์เช่น หลงป่า ขนาดมีประสบการณ์และความรู้” เขาบอก ก่อนจะเล่าให้เห็นภาพด้วยการยกตัวอย่างการเอาตัวรอดจากการหลงป่า เพื่อยืนยันแผนที่ต่อให้ไม่ดีอย่างไรแต่ถ้ามีแผนก็ทำให้ความกลัวลดลง

“หลงป่าไม่ได้เตรียมตัว รู้ว่าหลงปุ๊บไม่ลึก ใช้วิธียึดจุดตรงที่หลงเป็นฐานและทำสัญลักษณ์บอกตำแหน่ง เช่นก่อกองหิน บากไม้ ผูกปมต้นหญ้า เพื่อเป็นจุดยึดว่าเราจะไม่หลงไปไกลกว่านี้แล้วจึงค่อยหาทางออก จากนั้นค่อยสำรวจในเส้นทางที่คาดว่าหลงมา หากหาไม่เจอให้กลับมาจุดเดิมแล้วเริ่มใหม่ ในระหว่างที่เดินให้หักกิ่งไม้ตามยอด และหักกิ่งทิ้งไว้ตามพื้น เป็นรูปตัว Y เพื่อนำทางกลับ รูปลักษณ์นี้ ไม่มีในธรรมชาติมันจึงสังเกตได้ง่ายเมื่อมีใครมาตามหาเรา ถ้าเดินไปจนสุดทางนั้นไม่เจอทางออก เราก็กลับมาตรงจุดที่เป็นฐานของเราอีกครั้ง แล้วก็หาเส้นทางใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยเป็นใยแมงมุม เราก็จะเจอทางออกได้ในที่สุด

“ถ้าเข้าป่าลึกระลึกไว้เสมอว่า ในป่าจะมืดไว อย่านอนในป่าโดยไม่มีการเตรียมพร้อม ก่อไฟไม่ใช่ว่าจะก่ออย่างไรก็ได้ ก็ไม่เป็นไฟก็ดับเร็วฟืนเท่าไหร่ก็ไม่พอ ให้ความอบอุ่นไม่ได้ตลอดคืน การก่อไฟให้ก่อแบบ 8 ทิศ วางฟืนบนพื้นจรดกันวิธีนี้จะทำให้ไฟเผาไหม้อย่างช้าๆและติดอย่างยาวนาน และเมื่อได้กองไฟแล้ว ให้หาฝั่งหนึ่งเป็นหลักยึดเหมือนพิงกำแพงเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เข้ามาจากด้านหลัง บีบให้สัตว์เข้ามาด้านหน้าหรือด้านข้างเท่านั้น ต่อด้วยกวาดเศษใบไม้ใบหญ้าให้เรียบป้องกันสัตว์เลื้อยคลานที่จะออกมาตอนพลบค่ำ แล้วก็สร้างปรากการธรรมชาติ เช่นตัดหนามในป่า เพื่อมาบังให้มีทางเข้าทางเดียว และหาไม้ติดตัวไว้ป้องกันการฟาดสามารถหยุดสัตว์ขนาดกลางอย่างสุนัขป่าได้ชะงักหากตรงจุดสำคัญพอ”

ครูสอนการเอาตัวรอดบอกอีกว่าในระหว่างการอยู่ในป่า สามารถหาแหล่งน้ำโดยสังเกตสิ่งต่อไปนี้เช่น การพบแมลงบินจำนวนมากหรือยุงอาจจะมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ๆ การมองไปข้ามป่าแล้วเห็นไม้รกทึบเขียวกว่าจุดอื่นอาจจะเป็นจุดที่มีน้ำ หรือบริเวณทางลาดที่มีหินจำนวนมากอาจจะเป็นทางน้ำมาก่อน ที่น้ำซัดดินออกไปจึงมีแต่หิน ให้ไล่ตามทางลาดนั้นลงไปต่ำๆจะเจอบ่อน้ำสุดท้ายขังอยู่ตรงนั้น
ขณะที่อาหารเป็นเรื่องยากนอกจากภาพยนตร์ที่ต่อให้มีปืนจะสามารถล่าได้ เนื่องจากกว่าที่สัตว์จะตายจะวิ่งหนีการตามยิ่งทำให้หลง วิธีที่ดีที่สุดคือหาอาหารจำพวกแมลงตามโคนต้นไม้ หรือ ตั๊กแตน แมลงเมา ปลวก ตะขายแมงป่องกินได้หมด ฯลฯ หากมีแหล่งน้ำอย่าพยายามจับปลาด้วยมือเปล่า ให้หาโดยการพลิกหินแทน ปูจะไม่เปรียวเท่าปลาและจับได้ง่ายกว่า

“แบร์กิล ( เอ็ดเวิร์ด ไมเคิล กริล) ที่ว่าเก่งในการเอาชีวิตรอดระหว่างอยู่กับธรรมชาติก็สู้เราไม่ได้ ถ้าเราเตรียมก็ยิ่งสะดวกสบายมากขึ้น อย่างมีความรู้เรื่องของน้ำเท่าให้เรารอด การมีความรู้เรื่องของการขับถ่ายเวลาน้ำท่วมบ้านก็ทำให้เรารอดไปได้ดีกว่าคนที่ไม่รู้ และถ้าเรามีครบ เราก็ไม่กลัว ร่างกายเราก็พร้อมมีชีวิตต่อ”

เขากล่าวทิ้งท้ายสำหรับผู้ที่สนใจท่องเที่ยวป่าและต้องการเพิ่มความรู้ในการเอาชีวิตรอดยามมีภัยพิบัติสามารถพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ที่ เพจ"เบิกไพร" เพื่อให้พี่ๆ น้องๆ คนไทยนำไปประยุกต์และปรับใช้รับมือกับสถานการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นกับชีวิต

เปิดใจแอดมิน “เบิกไพร” เพจสหายการท่องป่า ครูหนุ่มผู้นำความรู้จากป่ามาสู่เมือง

เปิดใจแอดมิน “เบิกไพร” เพจสหายการท่องป่า ครูหนุ่มผู้นำความรู้จากป่ามาสู่เมือง

เปิดใจแอดมิน “เบิกไพร” เพจสหายการท่องป่า ครูหนุ่มผู้นำความรู้จากป่ามาสู่เมือง