posttoday

รอลงอาญา!! "ลูกสนธิ" ทำกิจการวิทยุโทรทัศน์ไม่ได้รับอนุญาต

05 กันยายน 2562

“ศาลฎีกา” พิพากษาแก้โทษจากจำคุก ให้รอลงอาญา “จิตตนาถ” ลูกชายสนธิ – กก.ร่วมบริหารไทยเดย์ฯ คนละ 3 ปี คดี พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงฯ แต่เพิ่มโทษปรับคนละ 6 หมื่น “สนธิ” ขึ้นศาลให้กำลังใจลูกชาย ลุ้นผลฎีกา

“ศาลฎีกา” พิพากษาแก้โทษจากจำคุก ให้รอลงอาญา “จิตตนาถ” ลูกชายสนธิ – กก.ร่วมบริหารไทยเดย์ฯ คนละ 3 ปี คดี พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงฯ แต่เพิ่มโทษปรับคนละ 6 หมื่น “สนธิ” ขึ้นศาลให้กำลังใจลูกชาย ลุ้นผลฎีกา

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 ก.ย. ที่ห้องพิจารณา 903 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1870/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ซึ่งประกอบการสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน , นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล กรรมการบริหาร บ.ไทยเดย์ฯ ซึ่งเป็นบุตรชายนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งนสพ.ผู้จัดการรายวันและอดีตแกนนำคนสำคัญ พธม. และนายพชร สมุทวณิช กรรมการบริหาร บ.ไทยเดย์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการสาธารณะหรือชุมชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต

โดยอัยการโจทก์ ระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อระหว่างเดือน ก.ย. 48 - 3 ก.พ.49 จำเลยทั้งสามร่วมกันประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ โดยร่วมกันทำการบันทึกรายการภาพและเสียงหรือทำการถ่ายทอดสดรายการตามที่มีกำหนดไว้ในผังรายการแล้วส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงผ่านทางสายเคเบิลใยแก้ว ซึ่งเช่าจากบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งต่อไปที่เกาะฮ่องกง ประเทศจีน จากนั้นมีการส่งสัญญาณภาพและเสียงต่อไปยังดาวเทียม NSS6 แล้วดาวเทียมส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงกลับมาที่ประเทศไทย ทางสถานีโทรทัศน์ระบบดาวเทียม ASTV ช่องนิวส์วัน ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถซื้อจานรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อดูรายการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อันเป็นการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 15 ส.ค.59 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าพยานโจทก์ที่นำมาเบิกความ รวม 4 ปาก ไม่มีพยานคนใดเบิกความให้ศาลเห็นว่าการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์โดยการส่งภาพและเสียง กระทำความผิดตามพ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2530 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551พิพากษายกฟ้อง

ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ “ศาลอุทธรณ์” มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 18 ก.ค.60 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2495 มาตรา 3,5,17 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกนายจิตตนาถ จำเลยที่ 2 และนายพชร จำเลยที่ 3 กรรมการบริหาร บ.ไทยเดย์ฯ คนละ 2 ปี และปรับ “บ.ไทยเดย์ฯ” จำเลยที่ 1 จำนวน 90,000 บาท ซึ่งทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 2-3 คนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท กับให้ปรับจำเลยทั้งสามด้วยเป็นรายวันๆ ละ 2,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.48 – 23 ม.ค.49 เนื่องจากจำเลยที่ 1 เช่าสายเคเบิล จากบริษัท กสท. และเป็นการส่งข้อมูลสัญญาณภาพและเสียงในประเทศไทย จากนั้นส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังสายเคเบิลใต้น้ำจากประเทศไทย ไปที่เขตบริหารปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นส่งสัญญาณภาพและเสียงไปยังดาวเทียม NSS-6 และส่งสัญญาณจากดาวเทียวดังกล่าวกลับมายังประเทศไทยจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งวิทยุโทรทัศน์หรือ ประกอบกิจการโทรทัศน์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งจำเลยทั้งสามยื่นฎีกาต่อสู้คดี

โดย “ศาลฎีกา” ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1-3 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2495 มาตรา 3,5,17 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

 แต่ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2-3 คนละ 2 ปีโดยไม่รอการลงโทษนั้น เห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1-3 เป็นเรื่องของการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตในการดำเนินการ ซึ่งหน่วยงานที่มีอำนาจออกใบอนุญาตดำเนินบริการส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) แต่ในช่วงเวลาเกิดเหตุยังไม่มีการจัดตั้ง กสช.ขึ้นจึงไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกใบอนุญาตให้เอกชนรายใดดำเนินการได้ ดังนั้นพฤติการณ์แห่งคดีจึงถือว่าไม่ร้ายแรงมากนัก อีกทั้งนายจิตตนาถและนายพชร จำเลยที่ 2-3 ไม่เคยกระทำความผิด และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 2-3 โดยรอการลงโทษ แต่ก็เห็นควรให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2-3 ไปด้วย

“ศาลฎีกา” จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับ “นายจิตตนาถ” จำเลยที่ 2 และ “นายพชร” จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการบริหาร บ.ไทยเดย์ฯ ด้วย คนละ 90,000 บาท คำให้การชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์อยู่บ้างลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงปรับคนละ 60,000 บาท ส่วนโทษจำคุกที่ลงโทษคนละ 1 ปี 4 เดือนนั้น ก็ให้รอการลงโทษไว้คนละ 3 ปี นอกจากที่แก้นี้ ก็ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการฟังคำพิพากษาฎีกาวันนี้ “นายสนธิ ลิ้มทองกุล” ที่เพิ่งได้รับการการอภัยโทษ และปล่อยตัวจากเรือนจำ เมื่อวานนี้ (4 ก.ย.62) คดีกระทำความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกคุมขังในเรือนจำ นาน 3 ปี 1 เดือน ก็ได้เดินทางมาให้กำลังใจ “นายจิตตนาถ” บุตรชายด้วยสีหน้าสดใส ยิ้มทักทาย กลุ่มจำเลยด้วย แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ โดยเดินทางกลับจากศาลทันทีเมื่อร่วมให้กำลังใจบุตรชายในการฟังคำพิพากษาฎีกานี้

ภาพประกอบข่าว