posttoday

เครือข่ายกะเหรี่ยงจี้รัฐเร่งหาตัวฆาตกรฆ่าบิลลี่

04 กันยายน 2562

เครือข่ายกะเหรี่ยงจี้รัฐเร่งหาตัวฆาตกรฆ่าบิลลี่ นักวิชาการชี้การจัดการปัญหาชาวบ้านบางกลอยสะท้อนกระบวนทัศน์เก่าของภาครัฐ

เครือข่ายกะเหรี่ยงจี้รัฐเร่งหาตัวฆาตกรฆ่าบิลลี่ นักวิชาการชี้การจัดการปัญหาชาวบ้านบางกลอยสะท้อนกระบวนทัศน์เก่าของภาครัฐ

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 ที่โรงแรมไมดา ดอนเมือง กทม. ระหว่างการจัดประชุมเครือข่ายกะเหรี่ยงในประเทศไทยเพื่อผลักดันมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ซึ่งมีผู้แทนกะเหรี่ยง 25 จังหวัดและชาวเลในพื้นที่อันดามันเข้าร่วมคับคั่ง เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเล ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์กรณีการตายของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” โดยเรียกร้องให้รัฐเร่งหาฆาตกรและผู้อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมมาลงโทษ เพื่อสร้างความเป็นธรรม คุ้มครองความปลอดภัย และเยียวยาครอบครัวของบิลลี่

ในแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมกันแถลงข่าว เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 ยืนยันว่าสารพันธุกรรมชิ้นส่วนกระดูกที่พบใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน ตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายพอละจี ที่ถูกนำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี ซึ่งดีเอสไอระบุว่าพฤติการณ์ของผู้กระทำการดังกล่าวเข้าข่ายลักษณะเป็นการฆาตกรรมโดยทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ

เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเลในประเทศไทย ซึ่งร่วมประชุมเพื่อผลักดันมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553 ให้มีผลเชิงปฏิบัติในการปกป้องและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.เราขอขอบคุณและเป็นกำลังใจกับเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ทุ่มเททำงานด้วยความมานะอุตสาหะจนสามารถพิสูจน์ยืนยันวัตถุพยานหลักฐานสำคัญประกอบการสอบสวนคดีอุ้มหาย และสามารถระบุได้ว่า “บิลลี่” เสียชีวิตแล้ว อันจะไปสู่การดำเนินคดี และการคืนความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัว ชุมชน รวมถึงเครือข่ายกะเหรี่ยงที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการสืบสวน สอบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดรวมถึงผู้ที่มีส่วนทั้งหมดมาดำเนินคดีโดยเร่งด่วน รวมถึงให้มีการดำเนินคดีผู้กระทำผิดและผู้เกี่ยวข้องในกรณีการวางเพลิงเผาทรัพย์ชุมชนบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบน จำนวนมากกว่า 100 หลังคาเรือน รวมทั้งบ้านปู่คออี้ ซึ่งไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใด ๆ เลย

3.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553 ในการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเลและกะเหรี่ยง อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดกรณีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบน ซึ่งนายพอละจี เป็นผู้ประสานงานการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจนได้รับชัยชนะในคดีศาลปกครองสูงสุด

4.เรียกร้องให้ประเทศไทยบัญญัติกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และกฎหมายว่าด้วยการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ ตามหลักสากลของสหประชาชาติว่าด้วย อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามแล้ว เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีจึงไม่มีสภาพบังคับอย่างใด

“เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเลในประเทศไทย จะได้ติดตามความคืบหน้ากรณี นายพอละจี ถูกอุ้มหายจนพบหลักฐานสำคัญว่าเขาได้เสียชีวิตไปแล้วอย่างโหดเหี้ยม ให้ได้รับเป็นความธรรมโดยเร่งด่วน ทั้งการนำคนผิดมาลงโทษ การคืนความเป็นธรรม เยียวยาครอบครัวและออกกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิให้เกิดขึ้นโดยเร็วต่อไป”แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ก่อนอ่านแถลงการณ์สมาชิกเครือข่ายกะเหรี่ยงได้ร้องเพลง “บิลลี่”ซึ่งแต่งขึ้นใหม่โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตการต่อสู้ของบิลลี่และมึนอ(ภรรยาบิลลี่)

นายชูพินิจ เกษมณี นายกสมาคมศูนย์การศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย กล่าวว่ากรณีการเสียชีวิตของบิลลี่และการบังคับย้ายชาวบ้านบางกลอยเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนทัศน์แบบเก่าของภาครัฐที่คิดเองทำเองฝ่ายเดียว ทั้งที่ในการประชุมป่าไม้โลกซึ่งผู้แทนกรมป่าไม้เข้าร่วมประชุมทุกปีได้สรุปว่า การจัดการป่าไม้ในกระบวนทัศน์เก่าโดยรัฐเป็นผู้ผูกขาดและเอื้อประโยชน์กับนายทุนเป็นการสร้างปัญหามากซึ่งเกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นเช่นนี้ทั่วโลก จึงควรมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่โดยจัดการแบบพหุพาคีเพื่อให้สังคมได้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งขณะนี้หลายประเทศกำลังปรับเปลี่ยน แต่ประเทศไทยยังตกอยู่ในกระบวนทัศน์เก่า

นายชูพินิจ กล่าวว่า นอกจากนี้ประเทศไทยยังลงในอนุสัญญาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งให้การยอมรับเรื่องภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองและท้องถิ่นเพื่อให้การพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งในอนุสัญญานี้ยังพูดถึงการจัดการป่าไม้ในพื้นที่คุ้มครองทั้งในเขตอุทยานฯ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่ทุกฝ่ายควรมีสิทธิเข้าร่วม แต่จนถึงปัจจุบันประเทศไทยกลับไม่ปฎิบัติเลย และผูกขาดทำแต่ฝ่ายเดียว

“อย่างเรื่องการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง มีงานวิจัยมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ออกมาในทำนองเดียวกันว่าเป็นการสอดคล้องกับวิถีอนุรักษ์ แต่รัฐบาลกลับไม่เคยนำมาพิจารณาแถมยังพยายามบอกว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอย เช่นเดียวกับเมื่อมีหมอกควันก็มันจะโทษว่าคนบนที่สูงเผาป่า ทั้งๆที่หมอกควันมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม แต่ชาวบ้านเริ่มเผาไร่ในเดือนเมษายน รัฐไม่ได้เข้าไปดูสาเหตุที่แท้จริง”นายชูพินิจ กล่าว