posttoday

โพลชี้ "ข้าวเหนียวแพง" ทำพ่อค้าคนกลางได้ประโยชน์

01 กันยายน 2562

นิด้าโพลเผย คน 76.48% มองพ่อค้าคนกลางได้ประโยชน์จากราคาข้าวเหนียวแพง ขณะที่ 35.73% รับได้หากร้านอาหารลดปริมาณข้าวเหนียวแต่ราคายังเท่าเดิม

นิด้าโพลเผย คน 76.48% มองพ่อค้าคนกลางได้ประโยชน์จากราคาข้าวเหนียวแพง ขณะที่ 35.73% รับได้หากร้านอาหารลดปริมาณข้าวเหนียวแต่ราคายังเท่าเดิม

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ข้าวเหนียวแพง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 – 30 สิงหาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,272 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับราคาข้าวเหนียวที่แพงขึ้นในเวลานี้

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความถี่ในการรับประทานข้าวเหนียวของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.09 ระบุว่า รับประทานข้าวเหนียวบ้าง แล้วแต่โอกาส รองลงมา ร้อยละ 26.02 ระบุว่า รับประทานข้าวเหนียวเป็นประจำ (ทุกมื้อ/เกือบทุกมื้อ) ร้อยละ 9.91 ระบุว่า รับประทานข้าวเหนียวอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง ร้อยละ 7.23 ระบุว่า รับประทานข้าวเหนียวค่อนข้างบ่อย (อาทิตย์ละ 7 – 10 มื้อ) และร้อยละ 2.75 ระบุว่า ไม่รับประทานข้าวเหนียวเลย

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อสาเหตุของราคาข้าวเหนียวที่แพงขึ้นในเวลานี้ (เฉพาะผู้ที่รับประทานข้าวเหนียว) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.62 ระบุว่า ภาวะภัยแล้งทำให้ข้าวเหนียวมีราคาสูง รองลงมา ร้อยละ 27.57 ระบุว่า มีการกักตุนโดยพ่อค้าคนกลาง/โรงสี ร้อยละ 19.32 ระบุว่า เป็นการปั่นราคาของพ่อค้าคนกลาง/เจ้าของโรงสี ร้อยละ 17.14 ระบุว่า ปริมาณข้าวเหนียวในตลาดมีน้อยมาก ในขณะที่ความต้องการบริโภคมีสูง ร้อยละ 14.87 ระบุว่า ชาวนาหันไปปลูกข้าวหอมมะลิแทน เนื่องจากได้ราคาดีกว่า ร้อยละ 7.36 ระบุว่า ข้าวในสต็อกเหลือน้อย ร้อยละ 3.56 ระบุว่า เป็นการสมคบคิดกันเพื่อจะได้นำเข้าจากเพื่อนบ้าน ร้อยละ 1.21 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การบริหารงานและการจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล เศรษฐกิจไม่ดี ค่าขนส่งแพง และส่งออกเยอะเกินไป ขณะที่บางส่วนระบุว่า ราคาอุปกรณ์ทางการเกษตรมีราคาสูง และร้อยละ 6.55 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อผู้ที่ได้ประโยชน์จากการที่ข้าวเหนียวมีราคาแพงขึ้น (เฉพาะผู้ที่รับประทานข้าวเหนียว) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.48 ระบุว่า เป็นพ่อค้าคนกลาง รองลงมา ร้อยละ 20.21 ระบุว่า เป็นโรงสี ร้อยละ 10.99 ระบุว่า เป็นผู้นำเข้า/ส่งออกข้าว ร้อยละ 4.61 ระบุว่า เป็นชาวนา ร้อยละ 4.45 ระบุว่า เป็นพ่อค้า/แม่ค้าขายอาหารที่มีข้าวเหนียวเป็นส่วนประกอบ (เช่นข้าวเหนียวหมูปิ้ง เป็นต้น) ร้อยละ 2.83 ระบุว่า ไม่มีใครได้ประโยชน์ และร้อยละ 3.23 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความต้องการของประชาชนต่อพ่อค้า/แม่ค้าขายอาหารที่มีข้าวเหนียวเป็นส่วนประกอบ (เฉพาะผู้ที่รับประทานข้าวเหนียว) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.73 ระบุว่า ลดปริมาณข้าวเหนียว แต่ราคาเดิม รองลงมา ร้อยละ 29.11 ระบุว่า ยอมกำไรน้อย/ไม่มีกำไร เพื่อลูกค้า โดยให้ปริมาณข้าวเหนียวคงเดิมและราคาเดิม ร้อยละ 15.44 ระบุว่า เพิ่มทั้งราคาและปริมาณข้าวเหนียว ร้อยละ 14.63 ระบุว่า ปริมาณข้าวเหนียวคงเดิม แต่เพิ่มราคา และร้อยละ 5.09 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

โพลชี้ "ข้าวเหนียวแพง" ทำพ่อค้าคนกลางได้ประโยชน์