posttoday

ศาลฎีกาพิพากษายืน "ประหารชีวิต" 2หนุ่มเมียนมาข่มขืน-ฆ่านักท่องเที่ยวอังกฤษ

29 สิงหาคม 2562

"ศาลฎีกา" พิพากษายืน ประหารสถานเดียว 2 หนุ่มเมียนมา คดีข่มขืน-ฆ่า 2นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า ชี้พยานหลักฐานโจทก์ปราศจากข้อสงสัย ข้อฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

"ศาลฎีกา" พิพากษายืน ประหารสถานเดียว 2 หนุ่มเมียนมา คดีข่มขืน-ฆ่า 2นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า ชี้พยานหลักฐานโจทก์ปราศจากข้อสงสัย ข้อฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.62 ศาลฎีกา มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ประหารชีวิตสถานเดียว "นายซอลิน หรือโซเรน" และ "นายเวพิว หรือ วิน" ทั้งสองอายุ 26 ปี สัญชาติพม่า จำเลยที่ 1-2 ในคดีฆาตกรรม นายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ และร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราและฆ่า น.ส.ฮานนาห์ วิคตอเรีย วิทเธอริดจ์ ทั้งสองอายุ 24 ปี นักท่องเที่ยวสัญชาติอังกฤษ ที่บริเวณหาดทรายรี ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 ก.ย.57

"ศาลฎีกา" พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีพยานหลักฐาน รวมทั้งผลพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ กรรตรวจสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ตรงกับจำเลย ขณะที่คดีเกี่ยวกับการกระทำต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กระทบจ่อภาพลักษณ์ประเทศ ซึ่งมีการตั้งคณะพนักงานสอบสวนเฉพาะกิจขึ้นมาโดยมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ควบคุมใกล้ชิด ในการตรวจเก็บสถานที่เกิดเหตุและพยานหลักฐานเพื่อจะติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็วเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของประเทศคืนมา ซึ่งมีการตรวจเก็บดีเอ็นเอทั้งคนไทยและต่างหลายชาติที่อาจจะเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีการใส่ถุงมือป้องกันการปนเปื้อน ใช้น้ำยาตรวจที่มีคุณภาพ เครื่องตรวจอัตโนมัติมีมาตรฐานในการตรวจพิสูจน์ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการรวบรวมพยานหลักฐาน และพิจารณาดูประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ทีละประเด็น โดยตัดผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปทีละคนทีละประเด็น ไม่ได้เฉพาะเจาะจงจำเลย ซึ่งครั้งแรกจำเลยก็เป็น 1 ในนั้นที่ต้องสงสัยแต่เมื่อยังไม่ชัดเจนจึงยังไม่ถูกดำเนินคดี

กระทั่งตรวจดีเอ็นเอจากเยื่อบุกระพุ้งแก้มจำเลย ตรงกับการตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงไม่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำจำเลย เพราะในการสอบสวนต้องใช้เวลา , บุคคลากรจำนวนมาก รวมทั้งงบประมาณ หากจะสร้างพยานหลักฐานคงไม่ต้องให้สิ้นเปลืองทั้งบุคคลากรและงบประมาณ พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัย ข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น

สำหรับคดีนี้ อัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดเกาะสมุย ในพื้นที่ ซึ่งศาลจังหวัดสมุยและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนให้ประหารชีวิตทั้งสอง ซึ่งระหว่างพิจารณาตั้งแต่ปี 2557 จำเลยทั้งสองไม่ได้รับการประกันตัว โดยเมื่อทั้งสองศาลมีคำพิพากษาแล้วระหว่างฎีกา จำเลยทั้งสองก็ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางบางขวาง กระทั่งนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาวันนี้ ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ใกล้สถานที่คุมขัง ศาลจึงได้เบิกตัวจำเลยทั้งสองมาฟังคำพิพากษา

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้กล่าวถึงกระบวนการอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีนี้ว่า การอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ เป็นการอ่านคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ที่มีการเผยแพร่ภาพและเสียง ผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรน มายัง "ศูนย์อำนวยความยุติธรรมอิเล็กทรอนิกส์" (E-Justice Conference Center) ชั้น 6 อาคารศาลอาญา ที่สำนักงานศาลยุติธรรมจัดให้มีล่ามแปลภาษาพม่า เพื่อแปลภาษาให้จำเลยได้ฟังอย่างเข้าใจถึงผลคำพิพากษา

ซึ่งการจัดหาล่ามแปลภาษานั้น ถือเป็นมาตรการของ "สำนักงานศาลยุติธรรม" ที่ให้ความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นชาวต่างชาติ โดยในวันนี้เป็นการแปลภาษาผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เราถือเป็นการอำนวยความยุติธรรมในยุคก้าวสู่ศาลดิจิทัล หรือ D-Court

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ "ศูนย์อำนวยความยุติธรรมฆำอิเล็คทรอนิกส์" ที่ตั้งอยู่ชั้น 6 อาคารศาลอาญานั้น ได้จัดให้ห้องถ่ายทอดภาพ-เสียงการแปลภาษาของล่าม เพื่ออำนวยความสะดวกในคดีผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นชาวต่างชาติ รวมทั้งสิ้น 3 ห้อง