posttoday

ยธ.เผยผลตรวจสอบ "กำไลอีเอ็ม" ติดตามผู้ถูกคุมประพฤติไร้ประสิทธิภาพจริง

26 สิงหาคม 2562

ยธ.แถลงผลตรวจสอบกำไลอีเอ็มไร้ประสิทธิภาพจริง "ถอด-สวมกลับโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะ-ผู้สวมมีอาการแพ้เกิดแผลติดเชื้อ-สัญญาณแจ้งเตือนการทำลายเดือนละแสนครั้ง ชี้บริษัทคู่สัญญาทำผิดเงื่อนไข

ยธ.แถลงผลตรวจสอบกำไลอีเอ็มไร้ประสิทธิภาพจริง "ถอด-สวมกลับโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะ-ผู้สวมมีอาการแพ้เกิดแผลติดเชื้อ-สัญญาณแจ้งเตือนการทำลายเดือนละแสนครั้ง ชี้บริษัทคู่สัญญาทำผิดเงื่อนไข

เมื่อวันที่ 26 ส.ค.62 นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรมแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (กำไล EM) ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบและรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวมายังนายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว โดยระบุมี 3 ประเด็นสำคัญคือ อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) สามารถถอดออกจากข้อมือได้โดยไม่ต้องใช้การตัดสายรัดหรืออุปกรณ์ในการถอด และสามารถสวมใส่กลับเข้าไปได้นั้นเป็นความจริง

นอกจากนี้ยังพบอีกว่ามีผู้ถูกคุมความประพฤติที่สวมใส่อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) หลายรายเกิดอาการแพ้ โดยบางรายเกิดผื่นสีแดงขึ้นบริเวณข้อมือ หรือมีผิวหนังแห้งบริเวณข้อมือ หรือมีแผลติดเชื้อบริเวณข้อมือ ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตของงาน (Term of Reference : TOR) ทั้งๆที่มีการกำหนดไว้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะต้องได้รับการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือหรือจากผู้ผลิตว่าเมื่อสวมใส่แล้วจะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้สวมใส่ได้โดยง่าย (Hypo-allergenic)

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นสุดท้าย คือ อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) มีการแจ้งเตือนบ่อยครั้ง และอาจจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสัญญาณแจ้งเตือนและประสิทธิภาพของอุปกรณ์ จากการตรวจสอบข้อมูลสถิติจากศูนย์ควบคุมการติดตามตัวผู้กระทำความผิดในงานคุมประพฤติด้วยอุปกรณ์เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการนี้เมื่อ 1มกราคม 2562 ถึงปัจจุบัน พบว่า มีผู้ถูกคุมประพฤติที่เข้ารับการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวในแต่ละเดือนอยู่ที่ 200-700 คน แต่มีการแจ้งเตือนว่าอุปกรณ์ถูกทำลายสูงกว่า 1,000-100,000 ครั้งต่อเดือน หรือ ไม่มีสัญญาณสูงกว่า 20,000-170,000ครั้งต่อเดือน เป็นต้น

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เห็นได้ว่ากรมคุมประพฤติอาจจะพบแล้วว่ากำไลอุปกรณ์อีเลคทรอนิคส์(อีเอ็ม)มีปัญหาจริงจึงยังไม่ได้จ่ายค่าเช่าซื้อให้กับบริษัทดังกล่าวตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบันหรือประมาณ 8 เดือน ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้หมายความว่ามีการทุจริต แต่เป็นการทำผิดเงื่อนไข TOR และข้อปฎิบัติไม่ได้เป็นไปตามสัญญา ดังนั้นปลัดกระทรวงยุติธรรมจึงมีคำสั่งให้กรมคุมประพฤติทำรายงานข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการฯแจ้งข้อค้นพบในทุกกรณีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยระหว่างนี้ขอให้ดำเนินการกับบริษัทคู่สัญญาตามอำนาจหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับหรือยกเลิกสัญญาต่อไป